ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชลน่าน”  แถลงนโยบายควิกวิน 100 วัน ผลักดันนโยบายสุขภาพจิตและยาเสพติดให้ทั่วถึงและครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมชู 3 แนวทางขยายบริการ จัดตั้งศูนย์มินิธัญญารักษ์ ตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด รพศ./รพท.ทุกจังหวัด และจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในรพช.ทุกอำเภอ

 

1 ใน 8 คนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 2023 ภายใต้แนวคิด Mental Health Anywhere : เพื่อนแท้มีทุกที่ และแถลงข่าว kick of นโยบาย Quick Win 100 วันสุขภาพจิตและยาเสพติดว่า  วันสุขภาพจิตโลกประจำปีนี้  องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)วางแนวทางการรณรงค์ ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตเป็นสิทธิมนุษยชนสากล  โดยเฉพาะปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลWHO พบว่า 1 ใน 8 คนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน 

สธ.พบผู้ป่วยจิตเวชแนวโน้มสูงขึ้นช่วง 3 ปี

ในประเทศไทย จากรายงานระบบคลังข้อมูลสุขภาพ สธ. พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นจาก 1,156,734 รายในปี  2564 เป็น 1,240,729 รายในปี 2566  ทั้งนี้ การเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในทุกช่วงวัย ทุกพื้นเป็นเรื่องจำเป็น  ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพื่อตอบรับกับเรื่องสุขภาพจิตเป็นสิทธิมนุษยชน จึงประกาศแนวทางรณรงค์ว่าเพื่อนแท้มีทุกที่  ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิตได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างสะดวก สิทธิมนุษยชนเรื่องนี้จะถูกขานรับและตอบรับอย่างเต็มที่ ขอเพียงมองที่ตัวเองถ้าต้องการเพื่อนสธ.พร้อมเป็นเพื่อนทุกที่ทุกเวลา

จัด 3 แนวทางขยายบริการดูแลรักษาฟื้นฟู

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนจะมุ่งเป้าประชาชนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข จะขยายการบริการการดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้รับบริการอย่างทั่วถึง โดยได้มีประกาศเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข Quick win 100 วันแรก ประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติด  เป็นความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 

1. มีแผนการจัดตั้งศูนย์มินิธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอย่างครบวงจรทุกจังหวัด

2.มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ครอบคลุมทุกจังหวัด

3.มีการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน ครบทุกอำเภอต่อไป เพราะกลไกเพื่อนแท้ในการดูแลประชาชน เพราะสุขภาพใจที่ดีและเข้มแข็งจะนำไปสู่การสร้างสุขภาพกาย สุขภาพปัญญา และสุขภาพสังคมที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้  เปิดให้ประชาชนเข้าถึงบริการผ่านช่องทางหลากหลายด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล นำมาเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงในฐานะเป็นเพื่อนได้ตลอดเวลา  ผ่านระบบเทคโนโลยีหรือสายด่วน 1667 หรือ เดิม 1323 บริการให้คำปรึกษา ประเมิน ตรวจสุขภาพจิต คิดว่ามีความเครียด มีปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถเข้าถึงแหล่งให้ความรู้คำปรึกษาได้  โดยจะมีการพัฒนาคิวอาร์โคด ต่อสายพูดคุยได้ แอปพลิเคชันต่างๆ แชตคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น

รวมทั้งมีการใช้เทเลเมดิซีนจากเดิมใช้ติดตามคนไข้ของรพ.ที่อาการสงบดีแล้ว ซึ่งจะมีการดำเนินการเพิ่มเติม คือ ออกหน่วยในพื้นที่จะสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลผู้ป่วยในรพ.ได้เลย โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว นำมาเสียบเข้ากับเครื่อง แล้วจะลงแอปพลิเคชันเทเลเมดิซีนให้กับคนไข้ ทำให้สามารถตรวจติดตามคนไข้ได้ โดยระบบมีการเชื่อมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)แล้ว รพ.สามารถส่งเบิกค่าใช้จ่ายได้เลย”รมว.สธ.กล่าว

กรมจิตร่วมมือเดินหน้าควิกวิน 100 วัน

ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์  รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของหอผู้ป่วยจิตเวช และกลุ่มงานจิตเวชเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลประชาชน นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังได้ดำเนินงานด้านการรณรงค์ สื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการให้พัฒนาศักยภาพของประชาชนให้มีความเข้มแข็งทางจิตใจ และร่วมกันช่วยเหลือกันและกันให้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่สับสนสนหรือยากลำบาก เพราะร่างกายและจิตใจมีความเชื่อมโยงกัน หากมีปัญหาสุขภาพจิตก็จะส่งผลต่อสุขภาพกาย ในขณะที่หากสุขภาพกายทรุดโทรมเสื่อมถอย ก็ส่งผลให้เกิดความเครียดจากความรู้สึกเป็นทุกข์ทางใจตามมา ซึ่งยาเสพติดก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลททั้งกายและจิต

ทั้งนี้ เป้าหมาย Quick win 100 วันในประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติด  จึงเป็นหนทางที่จะทำให้กลไกทางสุขภาพทั้ง 2 ด้านได้รับการดูแลทำงานสอดประสานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้ต่อเนื่องดีขึ้นได้ในขณะนี้ คือการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ให้รับทราบและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย จัดทำแนวทางบูรณาการทรัพยากรและบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยกันดูแลติดตามฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอย่างเป็นระบบ กระตุ้นครอบครัวผู้ป่วยหมั่นใส่ใจดูแล พร้อมรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ชุมชนและให้โอกาสทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และทำการรักษาต่อเนื่อง เพื่อใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นและไม่เป็นปัญหา เพื่อให้ผู้ที่ต้องการทางออกเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตและได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที