ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เผยกรณีการเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดบุคลากร ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงฯ ชี้สธ.ไม่มีปัญหาทยอยเบิกจ่าย 99% ส่วนนอกสังกัดยังพบปัญหาเดิม บางแห่งข้อมูลไม่ครบ บางแห่งเอกสารเพียบ เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ ส่วนงบคงค้างอีกกว่า 3 พันล้านต้องเสนอครม.ใหม่ จำเป็นต้องรอเบิกจ่ายครั้งนี้ให้แล้วเสร็จก่อน

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากงบกลาง วเงิน 2,995.95 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งภายในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงครึ่งเดือนแรก ของมิถุนายน 2565 และกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเบิกจ่ายให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานตามเกณฑ์กำหนด ทั้งในสังกัดกระทรวงฯและนอกสังกัดนั้น

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ว่า หลังจากได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแล้วนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการทำเรื่องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด โดยการเบิกจ่ายให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงฯแล้ว 99%  ยังเหลือของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพยายามดำเนินการอยู่

“หลักฐานบางแห่งไม่ครบ บางทีส่งมาเยอะมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งตรวจสอบให้อยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นนอกสังกัดสธ. โดยเราพยายามทำให้รอบคอบและเร็วที่สุด แต่เรื่องเอกสารหลักฐานเราจำเป็นต้องตรวจอย่างละเอียด เพราะหากข้อมูลไม่ครบ เราจ่ายไม่ได้ เนื่องจากหากจ่ายไปแล้วก็จะถูกเรียกเงินคืน จะส่งผลกระทบกันอีก” ปลัดสธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีได้มีการสื่อสารกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานนอกสังกัดหรือไม่ถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เนื่องจากบุคลากรหลายคนระบุว่าไม่ได้รับการสื่อสารจากสังกัดตนเอง นพ.โอภาส กล่าวว่า เราสื่อสารมาตลอด แต่เอกสารข้อมูลก็ยังส่งไม่ครบอยู่ดี บางแห่งเราขอให้ส่งเอกสารเรื่องการมอบหมายปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ยังไม่ได้ส่งมา หรือส่งมาล่าช้าตรงนี้เรามีการติดตาม มีการสื่อสารมาตลอด เพราะต้องเข้าใจว่า หากข้อมูลไม่ครบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เรียกเงินคืนจะมีปัญหา

เมื่อถามถึงค่าเสี่ยงภัยโควิดช่วงครึ่งเดือนหลังมิถุนายน 2565จนถึงกันยายน 2565 ก่อนสิ้นสุดการเป็นโรคติดต่ออันตราย ที่ยังคงค้าง และต้องทำเรื่องขอคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะมีการดำเนินการเมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับงบประมาณดังกล่าวมีวงเงิน 3,745 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการเสนอต่อ ครม.พิจารณาต่อไป แต่ต้องรอการดำเนินการเบิกจ่ายรอบนี้ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งในส่วนของกระทรวงฯ ไม่มีปัญหาเบิกจ่ายแล้วเกือบ 100% ยังเหลือของนอกสังกัด ซึ่งพยายามติดตามเรื่องเอกสารอย่างต่อเนื่อง และเจ้าหน้าที่ของสธ.ก็พยายามเร่งตรวจสอบข้อมูลทำการเบิกจ่ายให้เช่นกัน