ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีภาคประชาชนเชียงใหม่ประสานเสียงผลักดันเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 3,000 บาท พร้อมขอให้ความสำคัญเด็กไร้สัญชาติ หลังไร้เสียงตอบรับรัฐบาล ด้านปธ.กรรมการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ จี้รบ.ให้ความสนใจ เพราะเด็กเป็นพลังการขับเคลื่อนสังคมในอนาคต “ศุภชัย ใจสมุทร” แนะฝ่ายค้าน เสนอกม.พิเศษสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เข้าสภาฯ  ขณะที่พรรคก้าวไกลลั่นผลักดันแน่นอน

 

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม   ที่ห้องประชุมธานี พหลโยธิน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้จัดเวทีเสวนา คณะความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และภาคประชาสังคม ในหัวข้อ  "เพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า" 

โดย ศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานกรรมการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   กล่าวว่า  นักคิดด้านเศรษฐศาสตร์ บอกว่า การลงทุนของประเทศ นอกจากจะลงทุนเพื่อกระตุ้นภาวะทางเศรษฐกิจแล้ว ควรต้องลงทุนในมนุษย์ด้วย  ซึ่งสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า คือ นโยบายที่เป็นการลงทุนกับเด็ก เพราะเด็กจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมในอนาคต 

“ ทำอย่างไรให้เด็กมีอนามัยที่ดี  มีการศึกษา มีการสร้างบรรยากาศในการดูแลเด็ก  ทำอย่างไรถึงจะสร้างระเบียบ วินัย สร้างให้ครู ชุมชน เข้ามาดูแล ทั้งเด็กที่รวยและจน  เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดูแล”

ศ.ดร.ชยันต์   กล่าวอีกว่า  ในอีก 20 ปีข้างหน้า  เด็กจะเป็นกำลังสำคัญ เป็นแรงงานที่ดีในอนาคต ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำด้วย  นอกจากนี้   เด็กตามตะเข็บชายแดนที่มีพ่อแม่เป็นแรงงานข้ามชาติ ที่มีเด็กเกิดปีละ หมื่นกว่าคน ไม่มีหลักฐานการเกิดที่ชัดเจน ซึ่งเด็กๆเหล่านี้โตมาก็จะไปทำงานกับพ่อแม่ ในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องคำนึงถึงเด็กกลุ่มนี้ทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพอนามัยด้วย 

 

 

ด้าน ศธ.กล่าวย้ำพร้อมสนับสนุน หากมีนโยบายให้ดำเนินการ

ปาริชาติ พรหมสุวรรณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวว่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเสริมสร้างโอกาสและความเสมอภาคด้านการศึกษา     อย่างไรก็ตาม ศธ.ดูแลเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ดังนั้นเด็กเล็กตั้งแต่ 0-6 ปี กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้เข้าไปดูแล แต่หากมีนโยบายให้ ดำเนินการ ศธ.พร้อมที่จะเข้าไปดูแล  

  

ดันฝ่ายค้าน เสนอกม.พิเศษสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เข้าสภาฯ 

ศุภชัย ใจสมุทร  ที่ปรึกษารองนายกฯ(อนุทิน ชาญวีรกูล) กล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังปัญหาของผู้ปฏิบัติงาน ขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ  และสิ่งที่ขาด นั่นก็คืองบประมาณซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  วันนี้ เราต้องยอมรับว่า หลายพื้นที่ หลายประเด็น รัฐเอื้อทมมือเข้าไปไม่ถึง และรัฐบาลชุดนี้เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ 

ทั้งนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีมหาดไทย  กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งยังไม่มีปัญหาเด็กตกหล่นเพราะไม่ทั่วหน้ายังมีการกำหนดสิทธิผู้ที่ได้รับนั้น  จึงขอเสนอให้พรรคก้าวไกลที่เป็นฝ่ายค้าน ผลักดันนโยบายดังกล่าว ด้วยการเสนอเป็นกฎหมายพิเศษในสภา  รวบรวมปัญหาเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบาย

 

ส.ส.ก้าวไกล ย้ำชัด ผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า แม้เป็นฝ่ายค้าน

พุธิตา ชัยอนันต์    ส.ส. จ.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล  กล่าวว่า ในส่วนนโยบายพรรคก้าวไกล ยึดหลักการก้าวหน้าไม่ต้องพิสูจน์ความจน  แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้าน แต่พร้อมผลักดันในรัฐสภา และจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้ถ้วนหน้าเป็นเรื่องของกระทรวงหน่วยงานที่รับผิดชอบ   

ส.ส.ก้าวไกล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล ได้เสนอ (ร่าง)กฎหมายที่มีเนื้อหาคุ้มครองผู้ปกครองโดยตรง คือลาคลอด 180 วัน ให้แบ่งกันระหว่างพ่อกับแม่   และเสนอให้มีการจัดห้องให้นมบุตร ให้ครอบครัวมีการดูแลเด็กในระดับท้องถิ่น    รวมถึงผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม สำหรับเด็กวัยเรียน 2-6 ปี มีผู้ดูแลมากเพียงพอ อุปกรณ์ต่าง ๆที่เหมาะสมกับเด็ก   ผลักดันเป็นรายหัวเพิ่มเติมให้เด็กได้    ส่วนเรื่องเด็ก G มีการยื่นให้ที่ประชุมสภาฯ ผลักดันให้มีการศึกษาพิจารณา การให้สัญชาติเด็ก G    แล้วแต่ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลได้ปัดตกไปแล้ว

อดีตคณะทำงานเพื่อไทย เสนอแก้กฎหมายเปลี่ยนภาษี เพื่อจัดหางบประมาณ

ด้าน อดีต ส.ส. จังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย  สงวน พงษ์มณี กล่าวว่า ขณะนี้ พรรคเพื่อไทยกำลังจะดำเนินการเสนอกฎหมายเปลี่ยนภาษี เพื่อนำเงินมาใช้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เช่น การนำกิจการใต้ดินขึ้นมาบนดิน เพื่อนำภาษีมาใช้  ดังนั้น จึงขอให้ส.ส.ในรัฐสภาศึกษาถึงประเด็นดังกล่าว รวมถึงกฎหมายบางฉบับที่อาจจะมีเนื้อหาที่ไม่สามารถทำให้นโยบายต่าง ๆเกิดขึ้นได้

 

ท้องถิ่น นักวิชาการ ประสานเสียงให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง  

 

ทั้งนี้ภายในงาน ยังมีเวทีเสวนา ในหัวข้อ “ทำไมต้อง...สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” โดยผู้ทำงานในประเด็นสวัสดิการเด็กเล็ก จากหลากหลายพื้นที่ในภาคเหนือ  โดย   เกศริน ตุ่นแก้ว  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน จังหวัดเชียงใหม่  เล่าถึงภาพรวมของพื้นที่แม่วิน  โดยแม่วินจะมีพื้นที่ประมาณ 400 ตร.กม. มีหมู่บ้าน 17 หมู่บ้าน 43 หย่อมบ้าน  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 17 แห่ง  สังกัด อบต. 15 แห่ง หน่วยงานอื่น 2 แห่ง  ซึ่งลักษณะทางภูมิศาสตร์บ้านแม่วิน เป็นพื้นที่สูง มีลักษณะอยู่เป็นกลุ่ม เป็นหย่อมบ้าน  จึงต้องตั้งศูนย์ตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และพยายามจะหางบประมาณเพื่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เพียงพอ   นอกจากนี้สภาพพื้นที่ยังเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้เด็กตกหล่น ไม่ได้รับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

 “อบต.แม่วินได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษา ประมาณ 20 ล้าน เป็นค่าใช้จ่ายบริหารสถานศึกษา  ค่าอาหารกลางวันเด็กเล็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งไม่เพียงพอ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ คณะกรรมการกระจายอำนาจช่วยลงมาดูแลในส่วนนี้  สำหรับเด็กที่ตกหล่นกว่า 70 คน อบต.แม่วินประสานกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เด็กได้งบประมาณครบ และวันนี้คาดว่าไม่มีเด็กตกหล่นแล้ว”

ด้านดร. พิสิษฎ์  นาสี  อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า กรณีพื้นที่อบต.แม่วินเป็นพื้นที่ตัวอย่างของปัญหานโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ที่ชัดเจนในภาคเหนือที่มีเด็กตกหล่น ที่เป็นพื้นที่ห่างไกล ชาวบ้านเดินทางลำบากในการต้องมาขึ้นทะเบียนให้ลูก ซึ่งอบต.แม่วิน ทำให้เข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน อย่างไร  นโยบายหรือหน่วยงานรัฐส่วนกลางอาจจะแข็งตัว คิดว่ามีคนทำงานคนเดียวก็สามารถดำเนินการได้ แต่กระบวนการดำเนินการมีมากกว่านั้น

            “หากรัฐบาลยอมรับให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่แรก ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น  ในวันนี้ นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าอาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่คิดว่าคณะกรรมการกระจายอำนาจอาจจะช่วยได้ ถ้ารัฐสามารถปล่อยให้ อบต.ทำงานเอง และมีการกระจายอำนาจ ในพื้นที่จะทำงานได้ดีกว่านี้” 

        

อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวเพิ่มอีกว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่รู้จักพื้นที่ ซึ่งอาจจะแก้ปัญหาการจัดการเรื่อง การดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดการให้เปิดปิดให้ตรงตามเวลา  หรือมีรถรับส่ง และมีการส่งต่อ สามารถดำเนินการได้   ส่วนเด็กตัว G จะมีส่วนในการพัฒนาสถานะ  อบต.จะพัฒนาโจทย์เหล่านี้ให้ครอบคลุม

ขนาดเด็กไทย ยังตกหล่น แล้วเด็กที่ไม่มีสัญชาติจะทำอย่างไร

             

อริยะ เพชรสาคร  ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ มูลนิธิแพลน INTERNATIONAL THAILAND    กล่าวถึงในประเด็น  เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่มีปัญหากระบวนการดำเนินการในการขอสัญชาติ เพราะเด็กไม่มีการแจ้งการเกิด ไม่มีทะเบียนราษฎร เพราะพ่อแม่ไม่รู้  การไม่มีสัญชาติจะเข้าสู่กระบวนการคงเป็นไปไม่ได้ 

 

ประธานคณะทำงานเด็กเล็กถ้วนหน้า ระบุ  รัฐไม่เห็นว่าเงินสวัสดิการเด็กเป็นเรื่องเร่งด่วน

สุนี ไชยรส ในฐานะ ประธานคณะทำงานเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวถึงสถานการณ์สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า   ว่า  ประเด็นขอเรียกร้องต่างๆ ทั้งการขอเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาท ทุกคนไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งรัฐบาลชุดเก่ายังไม่ได้ทำ รัฐบาลชุดใหม่ ยังไม่ได้พูดถึง ปีที่ผ่านมา ขาดแค่ 14,000 ล้านบาท เด็กจะได้ถ้วนหน้า 

                 “รัฐบาลมักจะคิดว่า การใช้เงินกับเด็กไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการ งานวิจัย ระบุว่า การพัฒนาเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ซี่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศ รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่จะเปิดปิด อย่างไรให้สอดคล้องกับผู้ปกครอง”  

 

พม.ชี้ สาเหตุเด็กตกหล่นมาจากปัญหาเชิงเทคนิค

วรพงษ์ บุญเคลือบ   พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567   รมว.ได้มอบนโยบายให้กระทรวงได้ดำเนินการให้กับเด็กแรกเกิดครอบคลุม ทั่วถึง ตรวจสอบได้  เตรียมกายใจ เด็กให้พร้อมกับการเติบโต ส่วนเด็กแรกเกิดที่มีนโยบายให้เด็กตั้งแต่ปี 2559 พม.ได้มีการประเมินผล ติดตามเด็กที่ได้สวัสดิการเหล่านี้ เด็กที่ไมได้รับสวัสดิการมาจากเงื่อนไขทางเทคนิค เช่น การไม่มีพร็อมเพย์  หลักฐานไม่ครบ บางกรณีที่ผู้ปกครองเป็นผู้สูงอายุ ที่ไม่เข้าใจระบบ ทำให้ตกหล่น รวมถึงพื้นที่ที่ห่างไกล

 

สวัสดิการเด็กฯ ไม่ควรกำหนดรายได้ 

สุรพล ภู่บุปผา   รองปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่  กล่าวว่า เด็กทุกคนที่อยู่ในเทศบาลจะได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใด จะมีสัญชาติหรือไม่มีก็ตาม  ส่วนการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาล ไม่ค่อยมีปัญหา ศูนย์ฯ จะมีครูเวรคอยดูแลเด็ก  อย่างไรก็ตาม สำหรับในเรื่องสวัสดิการเด็กก้าวหน้า ไม่ควรที่จะกำหนดสิทธิ์ที่รายได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุใดๆก็ตาม เพราะเด็กยังไม่มีรายได้ เด็กทุกคนที่ได้สัญชาติไทย ควรจะได้สวัสดิการเด็กถ้วนหน้าเท่ากันทุกคน   และการพิจารณาอนุมัติเงิน ควรจะพิจารณาอนุมัติเร็วกว่านี้ให้เหมือนกับสวัสดิการผู้สูงอายุ   หากอนุมัติเร็วขึ้นเด็กก็จะได้รับเงินเร็วขึ้น  อย่างไรก็ตาม การใช้แอปพลิเคชั่น อาจจะมีปัญหาบ้างทั้งความรู้และอุปกรณ์   

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง