ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปธ.ชมรม รพ.สต. (ประเทศไทย) ไม่เห็นด้วยกรณี สสจ.ศรีสะเกษ คาดโทษพยาบาล 103 คน ผิดวินัยไล่ออก หากฝ่าฝืนไม่กลับต้นสังกัดกระทรวงสารณสุข ขาดราชการ เสนอ ก.ก.ถ. ควรมีมติเป็นกรณีพิเศษแก้ปัญหาบุคลากรถ่ายโอน พร้อมทบทวนหลักเกณฑ์ถ่ายโอนปี 2568 ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอน ให้สามารถถ่ายโอนได้โดยไร้ความขัดแย้ง

ตามที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ได้มีพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนประมาณ 103 คนพากันไปรายงานตัวที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ศรีสะเกษ เนื่องจากได้ขอถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามความสมัครใจของตนเอง 

เรื่องนี้เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย)  เปิดเผยว่า ทางชมรมฯ ไม่เห็นด้วยกับการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ (สสจ.) ที่ขู่คาดโทษพยาบาล 103 คน ที่ไปรายงานตัวปฏิบัติราชการ รพ.สต. ในสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ว่าผิดวินัย หากฝ่าฝืนไม่กลับต้นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการขาดราชการอาจไล่ออก  เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจไม่ตรงกันในมติระหว่างคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ควรไปคาดโทษทางวินัยกับข้าราชการ เพราะบุคลากรเหล่านั้นก็ไปปฏิบัติราชการอยู่ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และที่ไปรายงานตัวปฏิบัติราชการ รพ.สต. ในสังกัด อบจ. นั้น ก็เพราะสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ แจ้งมติคณะกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ให้บุคลากร 5 กลุ่ม ที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา เป็นผู้มีสิทธิได้รับการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2567 และเป็นการแจ้งหนังสือผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ก็แนะนำให้ข้าราชการ 5 กลุ่มเหล่านั้น ไปรายงานตัวปฏิบัติราชการที่ อบจ. ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566

โดยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุข ก็เคยมีหนังสือ ด่วนที่สด ที่ สธ 0208.6/ ว 5918 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2565 แจ้งแนวทางการถ่ายโอนบุคลากรไป อบจ. ปีงบประมาณ 2567 ไว้ในข้อ 2 “กรณีบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถ่ายโอนภารกิจ ต้องให้ผู้บังคับบัญชา (นพ.สสจ. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป แล้วแต่กรณี) พิจารณาให้ความเห็นก่อนการถ่ายโอน 2.1 กรณีผู้บังคับบัญชาเห็นชอบ ให้ดำเนินการตามแนวทางการถ่ายโอนต่อไป “

ซึ่งข้าราชการเหล่านั้น ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาตามแนวทางที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกแนวทางหลักเกณฑ์ไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว อีกทั้งคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอน ก็มีมติย้ำมติที่เคยมี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 และมีหนังสือจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (สกถ.) แจ้งหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการเกี่ยวข้อง และผู้ว่าราชการจังหวัดที่ อบจ.รับถ่ายโอน รพ.สต. ในปีงบประมาณ 2567 (2 ตุลาคม 2566) ให้บุคลากร 5 กลุ่มนอกภารกิจ รพ.สต. เหล่านี้ เป็นบุคลากรถ่ายโอน (ถ.) โดยทิ้งเลขตำแหน่งไว้ให้กระทรวงสาธารณสุข และให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณเงินเดือนและค่าตอบแทนให้บุคลากร รพ.สต. ที่ถ่ายโอน อบจ. ปีงบปมาณ 2567

นั่นหมายความว่าข้าราชการนอกภารกิจ รพ.สต. 5 หน่วยงาน ที่ได้ขอยื่นสมัครใจถ่ายโอนภายในเงื่อนไขกำหนดระยะเวลาก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ได้ปฏิบัติตามแนวทางหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณาสุข ถูกต้องแล้วตั้งแต่ต้น และได้ปฏิบัติถูกต้องตามมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ทุกประการ ข้าราชการเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนา หรือมีความตั้งใจที่จะหนีราชการ หรือละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่เค้าเหล่านั้นได้ไปปฏิบัติราชการตามมติของคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอน และมีเจตนามุ่งมั่นที่จะทำงานพัฒนาปฐมภูมิ พัฒนาท้องถิ่นบ้านที่อยู่ตามภูมิลำเนาที่ขอถ่ายโอน ส่วนราชการผู้บังคับบัญชาจึงไม่ควรขู่คาดโทษเอาผิดวินัย ให้ข้าราชการผู้น้อยเสียขวัญกำลังใจ และบั่นทอนความรักความผูกพันที่ยังคงต้องสงวนไว้ให้มีต่อกัน เพราะการกระจายอำนาจเป็นรูปแบบการบริหารจัดการระบบสุขภาพภาครัฐ ไม่ใช่ชนวนเหตุความขัดแย้งของบุคลากรสุขภาพ   

 

“บุคลากรผู้น้อย 5 กลุ่มนอกภารกิจ รพ.สต. เหล่านั้นมีความสับสน เนื่องจากไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตามมติฝั่งไหน ระหว่างมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ตามบัญชีรายชื่อของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.  หรือมติผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตามบัญชีรายชื่อของกลุ่มบริหารทรัพยากรบุคคล และสำนักงานระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ เสนอว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนปี 2567 และเกิดปัญหาความขัดแย้งของมติผู้มีอำนาจด้านการกระจายอำนาจถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. และกระทรวงสาธารณสุข นี้ ของกลุ่มบุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน ที่อยู่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ที่ได้มีการรายงานตัวกับ อบจ. ไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.  2566 ที่ผ่านมา รวมถึงได้เข้าปฏิบัติงาน รพ.สต. ในสังกัด อบจ. รับถ่ายโอนแล้ว คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ) ควรพิจารณาแก้ปัญหานี้ให้ผ่านไปได้ ไม่ให้กระทบต่อขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยควรจะมีมติเป็นกรณีพิเศษให้บุคลากรนอกภารกิจ รพ.สต. ที่ขอถ่ายโอนปิ 2567 และได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆมาแล้ว ได้เป็นบุคลากรถ่ายโอนตามประกาศ กกถ. 5 ตุลาคม 2564 และให้กระทรวงสาธารณสุข โดย อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ตัดโอนตำแหน่งบุคลากรเหล่านั้น ให้ไปเอาเลขตำแหน่งว่าง (ถ.) ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด และมีมติให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณเงินเดือนและค่าตอบแทน ให้บุคลากรถ่ายโอนเหล่านี้ ในปีงบประมาณ 2567 โดยใช้งบกลาง ปีงบประมาณก่อนนั้นไปพลางก่อน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า “ก.ก.ถ. ควรมีมติให้ตำแหน่งบุคลากรถ่ายโอนที่เกษียณอายุราชการ หรือลาออกระหว่างปฏิบัติราชการในสังกัด อบจ. ให้ตำแหน่งที่ว่างด้วยสาเหตุนี้นั้นยังคงอยู่กับ อบจ. และให้ อบจ. บริหารการใช้ตำแหน่งที่ว่างนั้นต่อไป ภายใต้เจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในประกาศ ก.ก.ถ. “ภารกิจไป งบประมาณไป ตำแหน่งไป บุคลากรสมัครใจ”

“สำนักงบประมาณ ก็ควรจะมีความจริงใจในการสนับสนุนงบประมาณด้านการกระจายอำนาจในภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. สำนักงบประมาณจะมาติดใจสงสัยในการสนับสนุนงบประมาณให้แก่ รพ.สต. ในสังกัด อบจ. ไม่ได้ เพราะสำนักงบประมาณเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่ได้ผ่านกี่พิจารณาหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจ สอน. / รพ.สต. ให้ก่ อบจ. และมีมติ กกถ. เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ประกาศราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เมื่อ 19 ตุลาคม 2564 สำนักงบประมาณไม่ควรติดใจสงสัยในเรื่องที่ตนเองมีมติ เว้นแต่ว่าจะเคยมีความเห็นสงวนไว้ในชั้นจัดทำร่างประกาศ ก.ก.ถ.”

นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย “อยากให้ผู้มีอำนาจส่วนกลางถอยคนละก้าว เพื่อให้การถ่ายโอนไม่ติดหล่มจนเกิดปัญหาอุปสรรคกระทบการให้บริการระบบสุขภาพปฐมภูมิแก่ประชาชน โดยขอคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถอยหนึ่งก้าว กระทรวงสาธารณสุขถอยหนึ่งก้าว”

“ส่วนในปีงบฯ 2568 ก็ควรต้องมาทบทวนหลักเกณฑ์ให้ชัดว่าบุคลากรที่จะถ่ายโอนนั้นควรจะเป็นบุคลากรที่มีเลขประจำตำแหน่ง (จ.18) ที่ รพ.สต. หรือมีคำสั่งปฏิบัติงาน หรืออยู่ระหว่างการตัดสินใจและขอช่วยราชการ อบจ. หากจะให้มีการถ่ายโอนบุคลากรจากโรงพยาบาล มาเติมเต็มระบบสุขภาพปฐมภูมิ ก็ปรับปรุงแก้ไขประกาศ ก.ก.ถ. ให้ อบจ. รับถ่ายโอนโรงพยาบาลชุมชน ตามแผนกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมายแล้ว เพื่อที่คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ จะได้ไม่ออกมติเกินขอบเขตอำนาจที่มี” นายสมศักดิ์ กล่าว