ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมรพ.ศูนย์/รพ. ทั่วไป ออกแถลงการณ์คัดค้านการโอนบุคลากรจาก 5 หน่วยงาน ไป รพสต.หรือสอน.เฉลิมพระเกียรติ ที่ถ่ายโอนไปอบจ.

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566  นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ออกแถลงการณ์ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เรื่อง คัดค้านการโอนบุคลากรจาก 5 หน่วยงาน ไป รพสต.หรือสอน.เฉลิมพระเกียรติ ที่ถ่ายโอนไปอบจ.

ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ปฐมภูมิ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลไปยังองค์กรบริหารส่วนจังหวัด โดยที่จำเป็นต้องมีการโอนสถานที่ ครุภัณฑ์ รวมถึงบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านปฐมภูมิไปด้วยเพื่อมิให้กระทบการบริการด้านปฐมภูมิแก่ประชาชนแต่พบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ ประเด็นการขอโอนของบุคลากรจาก 5 หน่วยงาน (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์) ที่เกิดจากการตีความของประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่รอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่รับฟังข้อทักท้วงจากอนุกรรมการฯ

ข้อเท็จจริง บุคลากรจาก 5 หน่วยงานดังกล่าว โดยเฉพาะโรงพยาบาลทุกระดับ ปฏิบัติงานด้านทุติยภูมิและตติยภูมิเกือบทั้งหมด ได้แก่ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยคลอด ผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ชั้นสูง ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัด ฟอกเลือดล้างไต เป็นต้น ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ เช่น พยาบาลวิชาชีพจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม 4 เดือน ถึง 1 ปีเป็นอย่างน้อย และได้ปฏิบัติงานอีกหลายปีจึงมีความเชี่ยวชาญจนสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน การโอนบุคลากรกลุ่มนี้ไปเพื่อปฏิบัติงานด้านปฐมภูมิ เป็นผลดีต่องานปฐมภูมิบ้าง แต่จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยต้องรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ จะขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก ซ้ำเติมปัญหาเดิม เมื่อบุคลากรกลุ่มนี้ขาดแคลน ผู้ป่วยนอกที่แออัดอยู่แล้ว ต้องรอคอยนานขึ้น ผู้ป่วยในไม่สามารถได้รับการดูแลเพียงพอ ผู้ป่วยหนักใน ICU จะขาดพยาบาลที่เชี่ยวชาญดูแล ผู้ป่วยรอคอยผ่าตัดนานขึ้นเพราะขาดพยาบาลช่วยผ่าตัด เป็นต้น

ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเห็นว่า การโอนบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านทุติยภูมิตติยภูมิที่ขาดแคลนมากอยู่แล้ว ไปทำงานด้านปฐมภูมินั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการสร้างปัญหาใหญ่หลวงต่อประชาชน จึงขอเสนอให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตีความปัญหานี้

โดยพิจารณาจากหลักการ เหตุผล และป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อ ทั้งประชาชนที่ยังไม่ป่วย (งานปฐมภูมิ) และประชาชนที่เจ็บป่วยรอการรักษาในโรงพยาบาล (งานทุติยภูมิ ตติยภูมิ)