ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เผยปมค้างจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดนอกสังกัดกว่า 1.6 พันล้าน มาจากปัญหาข้อมูลส่งไม่ครบ ขอบุคลากรจี้ต้นสังกัดตนเองส่งหลักฐานเร็วได้เงินเร็ว หากหลักฐานไม่พร้อมย่อมเบิกจ่ายไม่ได้ ขัดระเบียบกรมบัญชีกลางเป็นเงินภาษีประชาชน ส่วนงบค้างจ่ายล็อตสุดท้ายครึ่งเดือน มิ.ย.-ก.ย.65 กว่า 3.7 พันล้าน ต้องขอ ครม.หลังเบิกจ่ายรอบนี้แล้วเสร็จ

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แจ้งความคืบหน้าการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด19 แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติช่วงการระบาดที่ผ่านมา โดยได้รับการจัดสรรงบกลางวงเงิน 2,995.95 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี จ่ายให้กับทุกสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 - ครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน 2565 ปรากฎบุคลากรนอกสังกัดกระทรวงฯ วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ว่า ยังไม่ได้รับเงิน และตั้งคำถามว่าเพราะอะไรกระทรวงสาธารณสุขจึงทำงานล่าช้า โดยระบุว่าคาดจ่ายเสร็จสิ้นไม่เกินกลางปี 2567

สธ.จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดในสังกัดครบแล้ว ของก.ค.64 -ครึ่งเดือนแรก มิ.ย.65  

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ว่า สำหรับงบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 จากงบกลาง เพื่อเบิกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1,362.76 ล้านบาท ได้เบิกจ่ายเรียบร้อยแล้ว  ที่เหลือเป็นนอกสังกัดฯที่พบคือ หน่วยบริการสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน  

นอกสังกัดสธ.ยังค้างจ่ายเหตุต้นสังกัดบุคลากร ร.ร.แพทย์ -เอกชน ข้อมูลส่งไม่ครบ

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีมีคำถามเพราะอะไรเงินค่าเสี่ยงภัยนอกสังกัดกระทรวงฯ ถึงจ่ายได้แล้วเสร็จถึงเดือนมิถุนายน 2567 นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัญหาของหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ยังเบิกจ่ายให้ไม่ได้ เพราะส่งหลักฐานไม่ครบ อย่างบางกรณีไม่มีหลักฐานผลการตรวจโควิดของผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ปฏิบัติงานด่านหน้าในการตรวจผู้ป่วยโควิดอย่างไร เพราะกรมบัญชีกลาง ตรวจข้อมูลตรงนี้ด้วย หากไม่มีหลักฐานบ่งชี้การปฏิบัติงานโควิด ก็จะไม่สามารถเบิกจ่ายให้ได้ เราจึงต้องทำหนังสือส่งไปที่หน่วยงานเพื่อขอข้อมูลให้ครบถ้วน

“เมื่อเราได้ข้อมูล หลักฐานต่างๆ เราก็จะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนและทยอยเบิกจ่ายได้ แต่ปัญหาที่ล่าช้าไม่ใช่เพราะกระทรวงสาธารณสุข  แต่อยู่ที่ต้นสังกัดของบุคลากรที่ปฏิบัติงาน เมื่อไม่มีข้อมูลมาให้ เราก็เบิกจ่ายให้ไม่ได้ ที่ต้องขีดเส้นเวลาไปถึงปี 2567 เพราะมีรายละเอียดข้อมูล หลักฐานต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบถามทางต้นสังกัดของบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ว่า เพราะอะไรหลักฐานถึงไม่ครบ เพราะถ้าหลักฐานครบ เราทำให้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าทำเร็ว ทางกระทรวงฯ ก็จะได้ของบก้อนใหม่ได้เร็วขึ้นด้วย” ปลัดสธ.กล่าว

ปลัดสธ.ย้ำหลักฐานไม่ครบเบิกไม่ได้ เป็นเงินภาษี มีหลักเกณฑ์ต้องปฏิบัติ

เมื่อถามว่าหากข้อมูลไม่ครบถ้วนแล้วเบิกจ่ายเงินไปจะส่งผลอย่างไน นพ.โอภาส กล่าวว่า ทำไม่ได้ เงินภาษีประชาชน ข้อมูลไม่ครบจะรู้ได้อย่างไรว่า ถูกต้อง เรื่องนี้ไม่ใช่เงินส่วนตัว เงินภาษี เงินงบประมาณแผ่นดิน จำเป็นต้องมีระบบในการเบิกจ่าย ข้อมูลหลักฐานไม่ครบไม่สามารถเบิกให้ได้ ตรงนี้กรมบัญชีกลางวางเกณฑ์ วางระบบครบถ้วน เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป

เงินเสี่ยงภัยค้างจ่ายครึ่งหลัง มิ.ย.-ก.ย.65 ต้องรอล็อตนี้แล้วเสร็จก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1,633.19 ล้านบาท ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 พบว่า มีการเบิกจ่ายไปเพียง 14.94 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.91 ยังคงค้างเบิกถึง 1,618.25 ล้านบาท ซึ่งกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำกันเงินเหลื่อมปี เพื่อให้เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2567  

ส่วนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดล็อตสุดท้าย ที่ยังค้างอยู่คือ ช่วงครึ่งเดือนหลังมิถุนายน - กันยายน 2565 ที่สิ้นสุดการเป็นโรคติดต่ออันตราย วงเงิน 3,745 ล้านบาท หลังเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยล็อตนี้เสร็จสิ้น จึงจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาจัดสรรงบต่อไปได้