ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยเตือนค่าฝุ่นPM2.5 สูงในหลายพื้นที่ ทั้งกทม.ปริมณฑล ภาคเหนือ อีสาน และอีกหลายจังหวัด แนะประชาชน และกลุ่มเสี่ยงหากอยู่โซนส้ม หรือแดง  เมื่อออกจากบ้านขอให้สวมหน้ากากอนามัยหรือ N95 แต่ในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว “ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ” ไม่แนะนำให้สวม N95  

 

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 พบ ปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก สุพรรณบุรี หนองคาย นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร โดยค่า PM2.5 สูงสุดที่ ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5  ที่สะสมตัวมากขึ้น ส่งผลให้ในบางพื้นที่มีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  ประกอบกับช่วงนี้อากาศเริ่มหนาวเย็น ความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้ค่าฝุ่นสูง

“กรมอนามัยจึงแนะนำให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน พนักงานกวาดถนน คนขับรถรับจ้างทั้งรถจักรยานยนต์และรถสามล้อ พนักงานส่งอาหาร และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น “ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

วิธีป้องกันฝุ่น PM2.5

การป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสูดฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม โดยต้องเลือกหน้ากากที่ได้มาตรฐาน สะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติหรือฉีกขาด ขนาดของหน้ากากต้องเหมาะสมกับใบหน้า และกิจกรรมหรือลักษณะงานของผู้สวมใส่ เช่น หน้ากาก N95 เหมาะสำหรับกลุ่มทำงานกลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับจราจร พนักงานกวาดถนน แนะนำให้สวมหน้ากาก N95 หากทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน และมีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ทั้งนี้ ให้ถอดหน้ากาก หากรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก เมื่อยล้า หรือปวดศีรษะ และเปลี่ยนวิธีป้องกันตนเอง เช่น เข้าไปอยู่ในอาคารหรือหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นสูง

กลุ่มเสี่ยงกลุ่มไหนไม่แนะนำสวมN95

สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ไม่แนะนำให้สวมหน้ากาก N95 แต่ให้สวมหน้ากากอนามัยปกติแทน อย่างไรก็ตาม สำหรับทุกคน สามารถสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคารได้ แต่ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากทุกประเภทขณะออกกำลังกายกลางแจ้ง ที่สำคัญต้องสวมหน้ากากให้ถูกต้อง ใส่ให้กระชับใบหน้า ครอบทั้งจมูกและปาก ซึ่งจะช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ประชาชนควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นเป็นกิจวัตรประจำวันทุกเช้า ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com หรือแอปพลิเคชัน Air4Thai และ Life Dee หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่สายด่วนกรมอนามัย 1478   

อาการเริ่มแรกจากฝุ่น PM2.5

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย  กล่าวว่า  สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ในหลายพื้นที่เริ่มกลับมา โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคเหนือ   ซึ่งอยู่ในระดับ สีส้ม ระดับ เหลือง  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน  ยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ต้องเผชิญสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ตลอด โดยเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา พบค่า PM2.5 สูงสุดถึง 537 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศไทย ถึง 14 เท่า  อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่สีส้มค่าฝุ่นสูง ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้าน หากจำเป็นต้องออกไปขอให้สวมหน้ากากอนามัย และพกยาประจำตัว

“หากมีอาการแพ้ฝุ่นในระยะเริ่มแรก จะแสบตา  คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ  ไอแห้งๆ คันตามร่างกาย รวมถึงอาการในระดับรุนแรงตั้งแต่แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย ส่วนผลกระทบระยะยาว  ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจ หยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจวาย ระบบทางเดินหายใจ    มะเร็งปอด รวมถึงในหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด และกระทบต่อพัฒนาการระบบสมองของทารก” นพ.เอกชัย กล่าว และว่า ในกลุ่มพื้นที่สีแดงอันตรายมาก ขอให้สวมหน้ากาก N95  โดยเฉพาะกลุ่มทำงานกลางแจ้ง แต่หากใส่นานๆ รู้สึกเพลีย แนะนำให้ออกจากบริเวณที่มีฝุ่นสูงโซนสีแดง ขอให้หลบออกไปก่อนจนกว่าอาการจะดีขึ้น

เมื่อถามว่าสถานศึกษา โรงเรียน ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานต้องหยุดชั่วคราวหรือไม่ นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า   หากระดับเป็นสีส้มแล้ว ในที่ทำงาน หรือโรงเรียนควรมีมาตรการห้องปลอดฝุ่น ต้องมีมาตรการทำความสะอาด ทำระบบป้องกันฝุ่นตามมาตรฐาน แต่หากอยู่โซนสีแดงต้องให้โรงเรียน สถานศึกษา สถานประกอบการพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ผ่านระบบ HDC ของกระทรวงสาธาณสุข ในปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วย จากโรคระบบทางเดินหายใจ  โรคหัวใจและหลอดเลือด   โรคระบบตา โรคระบบทางผิวหนัง  รวมทั้งมะเร็งปอด   โดยในพื้นที่เขตภาคเหนือ 17 จังหวัด  มีจำนวนการเจ็บป่วยกว่า 1,878,525 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 21.21 ของการเจ็บป่วย ทั้งประเทศ  ที่ตัวเลข อยู่ ที่  8,854,729 ราย