ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี-ThaiPATH-T-HAT สานพลังภาคีเครือข่าย หนุนบริการสุขภาพบุคคลข้ามเพศ นำร่อง 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค เพื่อเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการของคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงแรมแมนดาริน โฮเทล แบงคอก (สามย่าน) กรุงเทพฯ โครงการสนับสนุนวิชาการและพัฒนาเครือข่ายการให้บริการทางคลินิกกับบุคคลข้ามเพศ โดยคลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Gen V clinic) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการก่อตั้งสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลายแห่งประเทศไทย (ThaiPATH) และโครงการข้ามเพศมีสุข (T-HAT) จัดประชุมวิชาการ “การพัฒนาการบริการสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลายในประเทศไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพสำหรับบุคคลข้ามเพศและบุคคลเพศหลากหลายในประเทศไทย
 
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งหวังการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพในกลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่พบว่ากลุ่มดังกล่าวเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่ากลุ่มรักต่างเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่จำกัด มีประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องเพศ รวมถึงการขาดนโยบายทางสุขภาพที่ครอบคลุมความจำเป็นของผู้รับบริการ เช่น บุคคลข้ามเพศที่ต้องใช้ฮอร์โมน ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกกังวล ขาดความมั่นใจ และไม่อยากเข้ารับบริการด้านสุขภาพ

“สสส. สนับสนุนคลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Gen V clinic) ในการดำเนินโครงการสนับสนุนวิชาการและพัฒนาเครือข่ายการให้บริการทางคลินิกกับบุคคลข้ามเพศ เพื่อขยายการทำงานกับเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และคนทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพกับคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยการขยายบริการด้านสุขภาพไปยัง 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ขอนแก่น (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) สงขลา (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) นครนายก (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์) หวังว่าการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ จะเป็นแนวทางในการพัฒนาบริการและการเข้าถึงอย่างได้มาตรฐานและเป็นมิตร รวมทั้งสร้างความเข้าใจด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมมากขึ้น” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว


ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หัวหน้าโครงการและหัวหน้าคลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Gen V clinic) กล่าวว่า สุขภาพของบุคคลข้ามเพศ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งกับตัวของคนข้ามเพศเองและกับประเทศชาติ เนื่องจากสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลให้มีสุขภาวะที่ดี ก็จะส่งผลกับปัญหาทางสุขภาพทั้งกายและใจในระยะยาว โดยปัจจุบันการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีข้อจำกัด เพราะบริการส่วนใหญ่เกิดขึ้นในจังหวัดศูนย์กลางของประเทศ เช่น กรุงเทพมหานคร ประชาชนที่มีความหลากหลายทางเพศในต่างจังหวัด มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ หรือต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อรับบริการ คลินิกเพศหลากหลายโรงพยาบาลรามาธิบดี และ สสส. เล็งเห็นปัญหาและความสำคัญของเรื่องนี้ จึงร่วมกันทำโครงการเพื่อขยายเครือข่ายการดูแลสุขภาพของคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้เกิดขึ้นในพื้นที่ในภูมิภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ 

ผศ.พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ นายกสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลายแห่งประเทศไทย (ThaiPATH) กล่าวว่า ปัจจุบันวงการแพทย์ให้ความสนใจและขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพบุคคลข้ามเพศอย่างมาก โดยมีความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน คลินิกของชุมชน รวมถึงผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งกับชุมชนและภาคสังคม ทำให้มีการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลายแห่งประเทศไทย (ThaiPATH) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งคิดว่าสมาคมจะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานร่วมกันและพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาบริการเพื่อสุขภาพของคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศในอนาคตต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง