ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีม SEhRT) ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ร่วมกับทีมจังหวัดในการเฝ้าระวังและให้คำแนะนำการจัดเก็บการดูแลสารเคมีที่ใช้ในทางเกษตรกรรมแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่และสื่อสารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ

 
วันที่ 30 พ.ย. 2566 แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การระเบิดของสารโพแทสเซียมคลอเรต หรือสารเคมีที่ใช้อบลำไยในโกดังพื้นที่บ้านไชยงาม หมู่ที่ 9 ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ส่งผลให้อาคารที่เก็บสะสมสารดังกล่าวเสียหายและมีผู้เสียชีวิต 3 ราย นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุของการระเบิด กรมอนามัยจึงได้มอบทีมปฏิบัติการฯ (ทีม SEhRT) ของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ทำงานร่วมกับพื้นที่ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบ และมอบหมายให้ทำการเฝ้าระวัง ด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงในการเฝ้าระวังด้านสุขภาพของตนเองและครอบครัว กรณีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อรับการดูแลรักษาต่อไป

“ทั้งนี้ กรมอนามัย ยังคงวิตกว่าอาจเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติดังกล่าวซ้ำได้หากไม่มีการควบคุม กำกับการจัดเก็บสารเคมีอย่างถูกต้อง จึงขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุม กำกับ และบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เร่งสำรวจ สถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีการสะสมสารเคมีอันตราย

โดยให้มีการตรวจตรา สำรวจพื้นที่ สถานที่จัดเก็บให้มีความปลอดภัย พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบกิจการ เพื่อความปลอดภัยจากภัยพิบัติจากสารเคมี ควรกำหนดมาตรการหรือแนวปฏิบัติสำหรับการเก็บสะสมสารเคมีในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนควรสังเกตและเฝ้าระวังการลักลอบเก็บสะสมสารเคมีอันตรายในชุมชน หากพบว่ามีการเก็บสารเคมีในปริมาณที่มากเกินไปหรือมีการลักลอบสะสมสารเคมีอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบและควบคุม กำกับให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

ด้าน แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เบื้องต้นทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่วมลงพื้นที่พบว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นสวนลำไย ไม่มีบ้านเรือนประชาชนโดยรอบ และไม่พบแหล่งน้ำสาธารณะ จึงยังไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำที่ส่งผลกับประชาชน แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณให้ทุกหน่วยงาน และประชาชนต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการเก็บสะสมสารเคมีอันตรายทั้งในครัวเรือนและในสถานประกอบกิจการ

โดยผู้ดูแลอาคารหรือโกดังเก็บสารเคมี ต้องมีความรู้ มีแนวปฏิบัติที่ได้มาตรฐานในการป้องกันการเกิดภัยพิบัติจากสารเคมีซึ่งอาจส่งผลต่อความเสี่ยงสุขภาพ ตลอดจน ชีวิต และทรัพย์สิน ดังนั้น ผู้ที่นำสารดังกล่าวมาใช้ และสะสมหรือมีไว้ในครอบครอง ต้องตรวจสอบและเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยและปฏิบัติให้ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำรอยความเสียหายที่เสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน