ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยรายละเอียดพบ “ไอกรน” ระบาดเขตสุขภาพ 12 ป่วยมากสุดปัตตานี 92 ราย ครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ล่าสุดสปสช. อนุมัติงบประมาณจัดซื้อวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ กว่า 41 ล้านบาท เพิ่มในชุดสิทธิประโยชน์ให้หญิงตั้งครรภ์ที่เคยรับวัคซีนบาดทะยักและคอตีบ  

 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทย ว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไอกรน พบในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ข้อมูลสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – 26 พ.ย.2566 พบว่า มีผู้ป่วยที่สงสัยเข้าข่ายติดเชื้อโรคไอกรน รวม 183 ราย คิดเป็น 3.6 ต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง พื้นที่เจอผู้ป่วยมากสุดคือ ปัตตานี 92 ราย นราธิวาส 79 ราย ยะลา 7 ราย และสงขลา ตรัง พัทลุง จังหวัดละ 1-3 ราย ในจำนวนนี้แบ่งตามกลุ่มอายุ คือ ร้อยละ 54 หรือประมาณครึ่งหนึ่งอายุน้อยกว่า 1 ขวบ, ร้อยละ 11 อายุ 1-4 ขวบ, ร้อยละ 7 อายุ 5-9 ปี, ร้อยละ 6 อายุ 10-14 ปี และ ร้อยละ 22 อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป

 

“การติดเชื้อพบสูงที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส โดยในจำนวนผู้ป่วย 183 รายนั้น มีผู้ที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบ 23 ราย นอกนั้นอาการไม่รุนแรงมาก ขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ทั้งนี้ ประวัติการได้รับวัคซีนไอกรนในกลุ่มผู้ติดเชื้อ 183 รายนั้น พบว่า 66% ไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ส่วน 25% ได้รับวัคซีนน้อยกว่า 3 เข็ม และอีก 9% ได้รับวัคซีนมากกว่า 3 เข็ม” นพ.ธงชัยกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม นพ.ธงชัยกล่าวว่า รูปแบบการติดเชื้อไอกรนในพื้นที่ พบว่า ร้อยละ 72 เป็นการติดเชื้อในครอบครัว, ร้อยละ 11 ติดเชื้อจากโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก, ร้อยละ 9 ติดเชื้อในชุมชน และ ร้อยละ 8 ติดเชื้อด้วยสาเหตุอื่นๆ ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบและไอกรน ในกลุ่มเป้าหมายในเด็กเล็ก 3 เข็มแรกนั้น ในพื้นที่ภาคใต้มีความครอบคลุมไม่ถึงร้อยละ 90 โดยเฉพาะใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา วัคซีนครอบคลุมไม่ถึงร้อยละ 80 เช่น ปัตตานีครอบคลุมไม่ถึงร้อยละ 70 ในขณะที่เป้าหมายของการฉีดวัคซีนระดับประเทศ ควรจะครอบคลุมถึงร้อยละ 90 ขึ้นไป และในปีนี้เรามีความพยายามทำให้ได้ถึงร้อยละ 95

 

กรมอนามัยเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีน ล่าสุด สปสช.จัดหาวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดให้การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบให้หญิงตั้งครรภ์ และล่าสุดได้เพิ่มวัคซีนไอกรนเข้าไปด้วย ทางกรมอนามัยจึงเร่งรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์เข้ามารับวัคซีนทั้ง 3 ตัว ที่เรียกว่าวัคซีน Tdap ทั้งนี้ทาง สปสช. ได้อนุมัติงบประมาณจัดซื้อ ‘วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์’ 110,000 โดส รวมเป็นเงินกว่า 41 ล้านบาท เพื่อเพิ่มในชุดสิทธิประโยชน์การฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์ที่เคยรับวัคซีนบาดทะยักและคอตีบมาแล้วด้วย

 

“ที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ป่วยไอกรนน้อยลงเรื่อยๆ แต่ขณะนี้กลับพบมากขึ้นในภาคใต้ อาจเพราะเรื่องการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่ครอบคลุม ซึ่งวัคซีนเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการเรื่องนี้ได้ เพราะเป้าหมายของเราคือการกำจัดโรคไอกรนให้หมดไป เหมือนกับโรคโปลิโอ ดังนั้นเราจะต้องเร่งสร้างความรู้ ความตระหนักให้กับประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ระบาด เพื่อให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนที่มากขึ้น พร้อมทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าวัคซีนเหล่านี้มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อเด็กๆ จึงอยากฝากถึงหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับการฝากครรภ์ เพื่อตรวจร่างกายและรับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ไปสู่รกนำไปถึงลูก และหลังคลอดนั้น ภูมิฯ ก็ยังมีอยู่ในน้ำนม กรมอนามัยจึงเน้นย้ำเสมอว่า เด็กแรกเกิดจนถึง 6 เดือนควรได้ดื่มน้ำนมแม่ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิฯ และแข็งแรงกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มน้ำนมแม่” รองอธิบดีฯ กล่าว