ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มนุษย์ทำงาน อ่วม! นั่งนาน เสี่ยงโรค สสส. สานพลัง เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ พัฒนา 4 นวัตกรรม “Healthy + Active Meeting” คู่มือ-ระบบแจ้งเตือนขยับ-แอปฯคำนวณพลังงานอาหารว่าง-หลักสูตรอบรม มุ่งเสริมการประชุมแบบสุขภาพดี ลดเสี่ยงป่วยกลุ่มโรค NCDs ในระยะยาว

"มนุษย์ทำงาน" นั่งนาน กินอาหารว่างพลังงานสูง เสี่ยงโรค! อ้วนลงพุง-เบาหวาน

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ไทยมีประชากรวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ประมาณ 40.30 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตในที่ทำงาน 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวัน การสำรวจการมีกิจกรรมทางกายปี 2565 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย พบว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ทิศทางการมีกิจกรรมทางกายของวัยทำงานลดลง จาก 74.6% ในปี 2562 เหลือ 65.8% ในปี 2565 ทำให้อาจเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต ดังนั้น สสส. จึงสานพลัง เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จัดงาน Healthy + Active Meeting Grand Opening “สุขภาพดีได้ในห้องประชุม” เปิดตัวนวัตกรรมแนวปฏิบัติการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทั้งการจัดอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพิ่มกิจรรมทางกาย ผ่อนคลายจิตใจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งดเหล้า และบุหรี่

ชวนใช้นวัตกรรม “Healthy + Active Meeting” ประชุมแบบสุขภาพดี 

ทั้งนี้ 4 นวัตกรรมเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการนำ Healthy + Active Meeting ไปสู่การปฏิบัติ 
1.คู่มือส่งเสริมการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ 
2.ระบบจัดการวาระการประชุม แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาหยุดพัก พร้อมคลิปวิดีโอสำหรับการขยับออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วม 
3.แอปพลิเคชันคำนวณพลังงานอาหารว่างที่เหมาะสมต่อสุขภาพ 
4.หลักสูตรอบรม ให้ความรู้ คำปรึกษา เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ และนำแนวปฏิบัติไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามบริบทขององค์กร 

ซึ่งมีองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน โรงพยาบาล และสถานศึกษาให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 40 องค์กร ทั้งนี้ องค์กรที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือฯ ที่เว็บไซต์ สสส. https://www.thaihealth.or.th/?p=352194 ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ เครือข่ายคนไทยไร้พุง” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า การฟื้นระดับการมีกิจกรรมทางกายให้กลับมาอยู่ในระดับปกติเป็นการทำงานที่ท้าทาย สิ่งสำคัญที่สุดคือการสานพลังภาคีเครือข่ายร่วมผลักดันให้เกิดการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สมาคมโรงแรมไทย องค์กรวิชาชีพ ผู้ให้บริการจัดอาหารว่าง ร่วมขยายผลมาตรฐานจากการจัดประชุมอย่างยั่งยืน สู่การจัดงานที่คำนึงถึงการสร้างเสริมสุขภาพ

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง และหัวหน้าโครงการส่งเสริมการประชุมที่ดีต่อสุขภาพ กล่าวว่า คนไทยโดยเฉพาะคนวัยทำงานป่วยเยอะขึ้นมาก โดยเป็นโรคเมตาบอลิกซินโดรม โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs เช่น

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคอ้วนลงพุง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด

สาเหตุสำคัญจากพฤติกรรมเนือยนิ่ง การนั่งทำงานในออฟฟิศอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ทำให้ร่างกายไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว และเกิดโรคเหล่านี้ สำหรับคนวัยทำงานเป็นโรคเบาหวานประมาณ 2 ล้านคน เพราะนั่งทำงาน นั่งประชุมนาน ๆ  

"การนั่งเฉย ๆ มีผลเสียต่อร่างกาย เมื่อนั่งแล้วแรงกดจะไปกดที่กระดูกสันหลังอย่างมากถึง 140% ถ้านั่งงอ ๆ จะกดอยู่ประมาณ 270% เพราะฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกเคลื่อน ปวดหลังเรื้อรัง หากไม่ขยับตัวเลย กระดูกและกล้ามเนื้อจะเกร็ง และอาจอักเสบได้ ส่งผลโดยตรงต่อความเจ็บปวดของร่างกาย การไหลเวียนของเลือดไม่ดี บางคนนั่งนานจนเป็นเส้นเลือดขอดหรือเส้นเลือดอุดตันได้ การนั่งมีผลเสียอีกเรื่อง คือ การเผาผลาญพลังงานไม่ดี เกิดโรคอ้วนได้อีก ส่งผลต่อโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ก็จะตามมา จึงต้องขยับ เพื่อให้ร่างกายกระตุ้น เกิดการไหลเวียน สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ มีงานวิจัยรองรับชัดเจนว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หากมีการขยับเขยื้อนเบา ๆ 3 นาที ในทุก ๆ 30 นาที น้ำตาลจะลดลง ความดันโลหิตจะลดลงด้วย" รศ.นพ.เพชร กล่าว

รศ.นพ.เพชร เพิ่มเติมว่า เครือข่ายคนไทยไร้พุง เปิดรับสมัครองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม เข้าร่วมโครงการ ทั้งในส่วนของ องค์กรภาครัฐ และเอกชน ที่สนใจเข้ารับการอบรม รับคำปรึกษาเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรนำร่องการจัดประชุมทีดีต่อสุขภาพ โรงแรม ศูนย์ประชุม ผู้ให้บริการจัดการประชุม ที่สนใจส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมความรู้ แนวทางการให้บริการ การจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ เป็นทางเลือกแก่ผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการจัดชุดอาหารว่าง ที่สนใจส่งตัวอย่างอาหารว่างมารับการตรวจประเมิน เพื่อขอรับป้ายกำกับ “อาหารว่างตามคำแนะนำเพื่อสุขภาพ” เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค มาร่วมกันขับเคลื่อน การจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ ต่อยอดการพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรสุขภาพดี Healthy Organization เพื่อให้ประชาชนวัยทำงานมีสุขภาพดี ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อีเมล์ raipoong@gmail.com

ด้านผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาหารว่างหรือเบรคประชุม โดยทั่วไปจะมีเค้ก ขนม แซนด์วิช เช่น บราวนี่ชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 200 กิโลแคลอรีต่อชิ้น รวมแล้วจะเกือบ 400 กิโลแคลอรีต่อกล่อง เทียบได้เท่ากับก๋วยเตี๋ยวน้ำ 1 ชาม ซึ่งพลังงานต่อวันที่ร่างกายต้องการจะอยู่ที่ประมาณ 1,600-1,800 กิโลแคลอรี หากเคลื่อนไหวหรือมีกิจกรรมทางกายน้อย ถ้ารับประทานเบรคประชุมหรืออาหารว่างทั่วไปหลายครั้งต่อวัน ก็จะได้รับพลังงานสูงเกินไป 

"อาหารว่างที่เหมาะสมตาม Healthy + Active Meeting จะต้องเป็นเฮลท์ตี้ เบรค ไม่ใช้ของแปรรูป โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เพราะเนื้อสัตว์แปรรูปจะเค็มนำ ให้เลือกใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่น ใช้ไก่ต้มสมุนไพรเพิ่มรสชาติ ใส่ในแซนด์วิชแทน ถ้าเป็นทูน่า ก็ไม่ควรใส่มายองเนสหรือครีมสลัดเยอะ ๆ ผู้จัดทำเบรคประชุม ควรเลือกใช้โปรตีนคุณภาพดี เช่น เนื้อไก่ หรือแพลนท์เบสแทนได้ ภายในชุดของว่างควรมีผลไม้ ผัก อย่างน้อย 1 อย่าง รวมกับเครื่องดื่ม อาจเป็นน้ำสมุนไพร หรือน้ำเต้าหู้เพื่อสุขภาพ ซึ่งอาหารและเครื่องดื่มรวมกันไม่ควรเกิน 200 กิโลแคลอรีต่อกล่อง" ผศ.ดร.ชนิดา กล่าว