ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วม รพ.สมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง และอีก 4 หน่วยงานเดินหน้านโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ตรวจหายีนกลายพันธุ์ 2 ตัว “BRCA1-BRCA2” ก่อมะเร็งเต้านม ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเดิม และญาติสายตรงเท่านั้น เพราะหากผลเป็นบวกเสี่ยงกว่าคนทั่วไป 50% ย้ำ!  บริการไม่มีค่าใช้จ่ายครอบคลุม 3 กองทุน

 

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่าง6 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมการแพทย์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมเปิดการประชุมเครือข่ายการให้บริการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงแบบครบวงจร

นายสันติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านมที่ทำให้ผู้หญิงไทยต้องเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี  กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้ “มะเร็งครบวงจร” เป็น 1 ในนโยบายการดำเนินงาน ปี 2567 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกมิติอย่างเป็นระบบ ทั้งการส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา ดูแลฟื้นฟูกายใจ รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านโรคมะเร็งให้เกิดการดูแลแบบครบวงจร

นายสันติ กล่าวว่า จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้การตรวจทางพันธุกรรมทำได้ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายถูกลง สามารถใช้ผลการตรวจไปเป็นแนวทางการวางแผนป้องกันหรือรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มะเร็งเต้านมประมาณร้อยละ 10-20 มีสาเหตุมาจากการรับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือยีนกลายพันธุ์จากมารดาหรือบิดา  ที่ผ่านมาการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 จะถูกกำหนดให้เป็นสิทธิประโยชน์ของคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม รวมถึงญาติสายตรงซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 แต่พบว่ายังมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการนี้

“ล่าสุดโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนอีกหลายแห่ง อย่างเช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ก็มีศักยภาพที่จะให้คำปรึกษาและเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจ รวมถึงให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งการลงนามความร่วมมือของทั้ง 6 หน่วยงานในวันนี้ จะทำให้เกิดรูปแบบการบริการที่ครบวงจร” รมช.สาธารณสุข กล่าว

ด้านนพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงนามครั้งนี้ ทั้ง 6 หน่วยจะร่วมกันพัฒนารูปแบบความร่วมมือที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม  จัดให้มีการตรวจยีนเสี่ยง รวมถึงการให้คำปรึกษา การตรวจคัดกรองในหญิงไทยกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว ซึ่งปัจจุบันการตรวจคัดกรองยีนกลายพันธุ์อยู่ในสิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3 สิทธิ ทั้งบัตรทอง ข้าราชการและประกันสังคม โดยมีเกณฑ์ความเสี่ยงของผู้ที่ควรได้รับการตรวจ ดังนี้ 

 

1.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 45 ปี

 

2.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่อายุ 46-50 ปี แบ่งเป็น

2.1  มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งซ้ำหลายครั้ง

2.2  มีญาติสายตรง พ่อแม่ พี่น้อง หรือบุตรธิดา อย่างน้อย 1 คน ที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก

 

3. ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุมากกว่า หรือเท่ากับ 50 ปี ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

3.1 มีประวัติญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คน ที่เป็ฯโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุไม่เกิน 50 ปี หรือมะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก

3.2 มีประวัติผู้ป่วยในครอบครัว ญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกันโดยความสัมพันธ์ทางสายเลือดอย่างน้อย 3 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม

3.3 มีประวัติในครอบครัวสายตรง อย่างน้อย 2 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก

  

4.ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกช่วงอายุที่เป็นมะเร็งเต้านม แบบ Triple Negative หรือมะเร็งเต้านมในผู้ชาย

 

หากพบยีนกลายพันธุ์ในญาติสายตรง เสี่ยงก่อมะเร็งเต้านมถึง 50%

นพ.ยงยศ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานการตรวจยีนกลายพันธ์มะเร็งเต้านมนั้น จะเริ่มจากแพทย์ทำการตรวจประเมินว่าเข้าข่ายกลุ่มดังกล่าวหรือไม่ หากเข้าข่ายจะแนะนำผู้ป่วยให้พิจารณาตรวจยีนดังกล่าว เมื่อตกลงก็จะมีการเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อทำการตรวจผ่านห้องปฏิบัติการ หากพบยีนกลายพันธุ์แสดงว่ามีความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ จากนั้นก็จะแนะนำให้ญาติสายตรงมาตรวจว่า มียีนกลายพันธุ์ BRCA1 และ BRCA2 ด้วยหรือไม่ หากผลตรวจเป็นบวก แพทย์ที่ปรึกษาทางพันธุกรรมจะวินิจฉัยและแนะนำการป้องกัน สำหรับญาติสายตรงที่ผลตรวจเป็นบวกก็จะแนะนำวิธีลดความเสี่ยง ซึ่งมีการให้ยาต้านฮอร์โมน หรือการรักษาอื่นๆที่เหมาะสมแต่ละราย โดยทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้ง 3 สิทธิสุขภาพ

“ญาติสายตรงที่พบยีนกลายพันธุ์ดังกล่าว จะมีความเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งถึง 50% มากกว่าในผู้หญิงทั่วไป ซึ่งยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวหากพบตัวใดตัวหนึ่งถือว่าเสี่ยงหมด ดังนั้น เมื่อพบแพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวป้องกัน และหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองทั้งการคลำ หรือแมมโมแกรมทุก 6 เดือน หรื 1 ปี และยังมียากินป้องกัน ความเสี่ยงก็จะลดลงได้” รักษาราชการอธิบดีกรมวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคนไข้หรือญาติสายตรงต้องการรับคำปรึกษาตรงนี้ สามารถไปยังรพ.เพื่อขอรับบริการได้หรือไม่  นพ.ยงยศ กล่าวว่า ทำได้ โดยรพ.จะมีระบบคัดกรอง แพทย์จะให้คำปรึกษากับคนไข้ รวมไปถึงญาติสายตรง อย่างคนไข้มะเร็งเต้านม หากพบยีนกลายพันธุ์ 2 ตัวก็ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นอีกข้างหรือมะเร็งรังไข่ได้ ส่วนญาติสายตรงก็เช่นกัน ซึ่งหากทำการเจาะเลือดตรวจ ก็จะส่งมายังศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ เพื่อทำการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ ทราบผลไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการตรวจคัดกรองดังกล่าว 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง