ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กทม. ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเป็นธรรมแก่แรงงานข้ามชาติในเขตเมือง พร้อมเสนอขยายศูนย์บริการฯ 69 แห่ง และจัดบริการเชิงรุกให้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประสาน สสส. เพื่อพัฒนากลไกอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นกลไกและเครือข่ายสนับสนุนการจัดบริการเชิงรุก 

วันที่ 6 ธ.ค. 66 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการ และจัดบริการสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ด้วยกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการให้บริการด้านสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ การตรวจสุขภาพ และการประกันสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวพบว่าหน่วยบริการในเขตกรุงเทพมหานครไม่เพียงพอต่อการให้บริการแรงงานข้ามชาติ และการกระจายตัวของหน่วยบริการยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีประชากรแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาการบริหารจัดการด้านสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติดังกล่าว เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการด้านสุขภาพ รวมถึงสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเป็นธรรม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการ และจัดบริการสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครขึ้น

ที่ประชุมได้รายงานข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้ 1. ข้อเสนอแนะในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ (โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) โดยเสนอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการขยายการให้บริการสุขภาพผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร 69 แห่ง และจัดบริการเชิงรุกให้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประสาน สสส. เพื่อพัฒนากลไกอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นกลไกและเครือข่ายสนับสนุนการจัดบริการเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค (PP) แต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการบริหารจัดการและจัดระบบบริการสุขภาพของหน่วยงานต่าง ๆ

2. การรับบริการสุขภาพกรณีแรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ โดยแนวทางการรับบริการคือแรงงานต่างด้าวสามารถตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 8 แห่ง แรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์สามารถรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ได้ทุกแห่ง (11 แห่ง) และศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 69 แห่ง

3. การดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว (โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ) โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม หรือสัญชาติอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเพิ่มเติม ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม พร้อมผู้ติดตามทุกราย ต้องอยู่ในระบบประกันสุขภาพในช่วงระยะเวลาไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย และอนุญาตให้ทำงานของคนต่างด้าว โดยเพิ่มระยะเวลาการคุ้มครองประกันสุขภาพ 1 ปี 6 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย และอนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว และ 4. การจัดบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าวของโรงพยาบาลในสำนักการแพทย์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือแนวทางการผลักดันให้ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง เข้าถึงการซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และแนวทางการขับเคลื่อนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวในกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ มติที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งกลุ่มคณะทำงานขึ้น 2 คณะ ดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และอีกกลุ่มหนึ่งจะเจาะจงไปที่ผู้ลี้ภัยเขตเมืองเป็นหลัก โดยหลังจากนี้จะมีการออกแบบรายละเอียดงานให้รอบคอบมากขึ้น รวมถึงในแง่ของเงื่อนไขทางกฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวขึ้นต่อไป

การประชุมวันนี้มี กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กทม. เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม