ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยังรอ! ค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ล็อตแรก 2,995.95 ล้าน (ก.ค.64-ครึ่งแรก มิ.ย.65) นอกสังกัด สธ.บ่นเพียบ! ส่งแก้ข้อมูลรอเป็นปี ไม่ได้เงิน ส่วนล็อตหลังต้องรอครม.ขอใหม่  ด้าน “ส.ส.ศุภณัฐ พรรคก้าวไกล – สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” โพสต์ติดตามต่อเนื่อง คนทำงานโควิดยังไม่ได้อีกเพียบ!

ตามที่สำนักข่าว Hfocus นำเสนอความคืบหน้าการเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด19   แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติช่วงการระบาดที่ผ่านมา โดยได้รับการจัดสรรงบกลางวงเงิน 2,995.95 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี จ่ายให้กับทุกสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 - ครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน 2565 

ปรากฎว่ารพ.นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ายังได้ไม่ครบ กระทั่งนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเผยถึงสาเหตุมาจากรพ.นอกสังกัด ส่งเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กำชับขอให้หน่วยงานนอกสังกัด เร่งส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายให้ครบ ไม่เช่นนั้นงบค่าเสี่ยงภัยอีกราว 3 พันล้านบาทของครึ่งหลัง มิ.ย.-ก.ย.65 จะเสนอขอครม.ไม่ได้อีก หากล้อตแรกไม่แล้วเสร็จนั้น

เมื่อเร็วๆนี้ ทางเพจเฟซบุ๊ก “สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” ได้โพสต์ข้อมูลจาก นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. จตุจักร-บางเขน-หลักสี่ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)  ถึงความคืบหน้าค่าเสี่ยงภัยโควิด งวดเดือนกรกฎาคม 2564 – ครึ่งเดือนแรกเดือนมิถุนายน 2565 โดยระบุว่า

-เป็นวงเงิน 2,995 ล้านบาท  สำหรับบุคลากร 118,323 คน คาดเบิกจ่ายจบภายในเดือนมีนาคม 2567
-บุคลากรในกระทรวงสธ. 64,436คน เบิกจ่ายครบ 100%
-บุคลากรนอกสังกัดฯ 53,887คน เบิกจ่ายไปแล้วเพียง 3.69%  เนื่องจากติดปัญหาเอกสารไม่ครบ ทำให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่าย จึงต้องแก้เอกสารใหม่
-งบเยียวยา กรกฎาคม 64-กันยายน 65 รวมทั้งหมด 6,745ล้านบาท 

สำหรับงวดเดือนมิถุนายน 65-กันยายน 65 จำนวน 3,749ล้านบาท สำหรับบุคลากร 202,867คน (หลายคนซ้ำกัน เพราะทำต่อเนื่อง)  ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. จะมีการใช้งบกลาง และงบประมาณปี67
ในส่วนตรงนี้ 

โดย ส.ส.ศุภณัฐ ระบุว่า จะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเบิกจ่ายครบถ้วน   

ปรากฎว่า มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานนอกสังกัดมาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งทางเพจ “สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” และเพจของ “ส.ส.ศุภณัฐ มีนชัยนันท์” รวมไปถึงเพจของสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus โดยส่วนใหญ่ไปในทำนองเดียวกันว่า 

“ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายควรหารือ และร่วมกันจัดการปัญหาในเรื่องข้อมูล กำชับหน่วยงานนั้นๆให้เร่งดำเนินการ เพราะเป็นขวัญกำลังใจบุคลากรคนทำงานช่วงโควิด”

“ควรจ่ายให้แก่หน่วยงานที่พร้อมก่อน หรือข้อมูลคนไหนพร้อมแล้วให้คนนั้น ไม่ควรต้องมารอกัน” 

นอกนั้นจะเป็นการบอกว่า เป็นรพ.นอกสังกัดที่ใด บางคนบอกว่า แก้แล้วแก้อีกเป็นปี ไม่เข้าใจว่าขาดอะไรตรงไหน เป็นต้น

 

ติดตามข่าวอื่นๆเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก Hfocus