ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข รับ รพ.อุดรธานีถูกแฮก!  ล่าสุดแก้ไขแล้ว เดินหน้าดำเนินคดีทางกฎหมาย พร้อมตั้งทีมบริหารทางเทคนิคฟื้นระบบไอที คุมเข้มป้องกันโจมตีทางไซเบอร์รองรับคิกออฟ 8 ม.ค. 67 บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 4 จังหวัด

 

จากกรณีโรงพยาบาลอุดรธานี ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมาถึงกรณี รพ.ประสบปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง โดยปัจจุบันสามารถแก้ไขใช้งานได้ในระดับเพียงพอให้บริการ แต่อาจมีความล่าช้าจึงขออภัยในความไม่สะดวก ในการมารับบริการที่โรงพยาบาลอุดรธานี กรุณานำสิ่งต่อไปนี้มาด้วยทุกครั้ง

1. บัตรประชาชนตัวจริง/สูติบัตรกรณีเด็กเล็ก...(จำเป็น!)

2. ยาเดิม ที่รับล่าสุดพร้อมซองยาที่มีชื่อยา หรือภาพถ่ายที่มีชื่อยา (ถ้ามี)

3. บัตรนัดโรงพยาบาล/ บัตรโรงพยาบาล (ถ้ามี)

4. บัตรแพ้ยา (ถ้ามี)

5. สมุดบันทึกประจำตัวผู้ป่วย (ถ้ามี)

6. สำเนาใบส่งตัว (ถ้ามี)

7. เบอร์โทรที่ติดต่อได้ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน (ถ้ามี)

เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในการพบแพทย์ และได้รับยาอย่างถูกต้อง

 

"ชลน่าน" ตั้งทีมฟื้นระบบไอที ป้องกันเข้มรองรับบัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการแฮกข้อมูลโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ว่า ได้รับรายงานปัญหาโรงพยาบาลอุดรธานีมา 2-3 วันแล้ว ว่าถูกโจมตีทางระบบคอมพิวเตอร์จาก Ransome ware  ซึ่งขณะนี้แก้ปัญหาในเชิงระบบได้แล้ว สามารถตอบสนองในการดูแลผู้ป่วยได้ โดย 1.กรณีส่งต่อผู้ป่วยมารักษาที่รพ.อุดรธานี จะใช้ระบบการทำงานด้วยการเขียนมือ (manual) และ ทำการเชื่อม ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (PAC) โดยแจ้ง รพ.ทุกแห่งที่เกี่ยวข้องในการส่งต่อผู้ป่วย สามารถพิมพ์ 1.ผลทางห้องปฏิบัติการ (Lab) 2.พิมพ์ผลการอ่านฟิล์ม 3.พิมพ์ใบสั่งยามาพร้อมกับผู้ป่วย

 

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการและติดตาม ตั้งทีมบริหารทางเทคนิคเพื่อฟื้นระบบไอที (IT) และแจ้งความ เก็บหลักฐานดำเนินการโดยรองบริหารและนิติกร

 

ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีการถูกโจมตีด้วยระบบดังกล่าวหลายที่ จึงวางแนวทาง 1. แจ้งทุกหน่วยให้เฝ้าระวังการนำเข้าข้อมูลจากที่อื่น เช่น การติดตั้งระบบไฟเชื่อมฐานข้อมูลของเรา 2.วางแนวทางการปฏิบัติการกรณีถูกแฮก เช่น สำรองข้อมูลเซิร์ฟเวอร์ มีระบบเอกสารทำมือ โรงพยาบาลที่เข้าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล (HAIT : Healthcare Accreditation Information Technology) ในระดับที่ 2 จะสามารถป้องกันการโจมมตีได้เร็วขึ้น ต้องพัฒนาให้ครบทุกโรงพยาบาล และเมื่อเกิดปัญหาได้ประสานแก้ไขไปที่กระทรวงดีอีเอส

 

“อย่างไรก็ตาม การโจมตีในลักษณะนี้ทำให้เราตื่นตัวมากขึ้น จากเดิมทีตื่นตัวอยู่แล้ว เพราะในวันที่ 8 ม.ค.2567  จะประกาศใชบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่นำร่องใน 4 จังหวัด ดังนั้นเรายกระดับการป้องกันให้มากขึ้น”นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว โดยทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการอยู่บ้าง จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการมาใช้แบบแมนนวน เพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนระยะถัดไปทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้เข้ามาช่วยดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว