ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ห่วง “หมูกระทะ-ชาบู-ส้มตำปูปลาร้า” โซเดียมสูงปรี๊ด แนะปรุงอาหารกินเองใช้สูตร 6:6:1 ปรุงรส 2:1:1 ลดเสี่ยงโรค NCDs  ระยะยาว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง และโรคไต

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง พบปะสังสรรค์กินเลี้ยงพร้อมหน้าบนโต๊ะอาหาร เป็นโอกาสดีในการเลือกอาหารดูแลสุขภาพคนในครอบครัว แต่อาหารยอดนิยมส่วนใหญ่มีรสเค็มจัด ชุดหมูกระทะ ชาบู พบโซเดียมกว่า 12,000 มิลลิกรัม ส้มตำถาดปูปลาร้า พบมีโซเดียมกว่า 2,000 มิลลิกรัม ที่สำคัญหากกินเป็นเวลานานจะเป็นพฤติกรรมติดเค็มตั้งแต่อายุยังน้อย เสี่ยงต่อแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs ที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตกว่า 400,000 คนต่อปี ควรกินเนื้อ ลดซดน้ำ ที่สำคัญควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงควบคู่กัน จากความเชื่อผิดๆ ที่ใช้น้ำหวานมาตัดเค็มทำให้ยิ่งกินอร่อย จะกลายเป็นได้ทั้งโซเดียมและน้ำตาล เพิ่มความเสี่ยงอันตรายจากอาหาร ป่วยโรค NCDs ในระยะยาว

“แนวทางการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะสม ควรเลือกรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารที่ครบ 5 หมู่ ปรุงอาหารกินเองด้วยรหัส 6:6:1 น้ำมัน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำตาล 6 ช้อนชาต่อวัน เกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน พร้อมจัดจานสุขภาพ 2:1:1 ผัก 2 ส่วน ข้าวไม่ขัดสี 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน ทั้งนี้ สสส. สานพลัง เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รวบรวมองค์ความรู้ที่เข้าใจง่าย เสริมความเข้าใจผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลดเค็ม ลดโรค รวมถึงพัฒนานวัตกรรมออนไลน์ทดสอบพฤติกรรมติดเค็ม 5 ระดับ ผ่านเว็บไซต์ www.lowsaltthai.com ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

สำหรับโรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น

  • โรคมะเร็ง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด 
  • โรคถุงลมโป่งพอง 
  • โรคเบาหวาน 
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคอ้วนลงพุง 

​​​​​​​