ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จวกสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นธรรม 7 ปี พร้อมชำแหละกองทุนประกังสัง เงินงบประมาณกว่า 2.3 ล้านล้านบาท แต่เสี่ยงขาดทุนและล้มละลายใน 30 ปี คนรุ่นใหม่สมทบเงินอาจไม่ได้เงินบำนาญ ขณะที่รัฐบาลเหนียวหนี้ไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 7 หมื่นล้าน ยอมจ่ายแค่ 4 พันล้านบาทเท่านั้น ขอปรับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพด้อยกว่า “30 บาทรักษาทุกโรค”

 

จวกยับสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นธรรม ทำผู้ใช้แรงงานเสียโอกาสมา 7 ปี

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่รัฐสภา  น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งเกี่ยวกับวิกฤตแรงงาน กับงบประมาณแบบเดิมๆ ในการประชุมสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วันที่สาม  ว่า ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การจะแก้ปัญหาจริงๆ ต้องแก้ต้นตอ คือ สูตรในการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ที่ใช้อยู่ถือว่าไม่เป็นธรรมมา 7 ปี โดยการคิดให้น้อยกว่าความสามารถของแรงงานที่จะทำได้จริงๆ  แทนที่แรงงานจะได้ค่าแรงเต็มๆ จากความสามารถ จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น กลับได้น้อยลงตามสูตรกระทรวงแรงงาน

น.ส.วรรณวิภา  กล่าวอีกว่า ผลกระทบ คือ ทำให้แรงงานเสียโอกาสจะได้รับค่าแรงที่สูงขึ้น ยกตัวอย่าง กรณีกรุงเทพมหานคร หากใช้สูตรเป็นธรรมต้องได้รับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 375 บาท แต่ความเป็นจริงขณะนี้ได้เพียง 353 บาท เสียโอกาสไปวันละ 20 บาท พูดง่ายๆ ต่อให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน เกินกว่า 100-200% แต่พอเจอสูตรนี้เข้าไปขึ้นได้เต็มที่แค่ 32% เท่านั้นจึงขอฝากนายกฯ ไปแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด

ชี้หากรบ.จะตัดงบบุคลากรภาครัฐ เริ่มจาก ‘กรรมการค่าจ้าง’ และปลัดแรงงาน

“หากท่านมีแผนจะตัดงบบุคลากรภาครัฐ ขอให้คิดถึงสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เพราะคนที่ควรถูกตัดเงินเดือนมากที่สุด คือ คนที่อยู่ในคณะกรรมการค่าจ้างเหล่านี้ รวมถึงปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ด ที่มีส่วนร่วมในการออกสูตรคำนวณดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้แรงงานเสียโอกาส ถือเป็นเรื่องร้ายแรง” น.ส.วรรณวิภา กล่าว

ชำแหละกองทุนประกันสังคม งบมหาศาลแต่เปราะบางเสี่ยงล้มละลายใน 30 ปี

ส่วนหลักประกันในการทำงาน เพิ่งมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมไป แต่กลับมีผู้ใช้สิทธิน้อยมากประมาณแสนกว่าคน จากผู้ประกันตน 24 ล้านคน หลายคนยังไม่รู้ว่าเลือกตั้งไปแล้ว เรื่องนี้สำนักงานประกันสังคม ควรถอดบทเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคม แม้จะมีสินทรัพย์มหาศาลเกือบ 2.3 ล้านล้านบาท เกือบเท่างบประมาณแผ่นดิน แต่มีความเปราะบางมาก รู้หรือไม่อีกไม่เกิน 20 ปีกองทุนนี้จะเริ่มขาดทุน และหากเป็นแบบนี้เรื่อยๆ อีกไม่นาน 30 ปีกองทุนนี้จะล้มละลายโดยสมบูรณ์

“แบบนี้เด็กที่เพิ่งจบการศึกษา ส่งเงินสมทบ เสี่ยงจะส่งเงินฟรี เพราะอีก 30 ปีข้างหน้า จะเอาเงินบำนาญที่ไหนมาจ่าย ที่เป็นแบบนี้เพราะรัฐเก็บเงินสมทบไม่เพียงพอ และรัฐก็เอาเงินออกไปใช้เรื่อยๆ ผ่านการลดหย่อนต่างๆ และไม่มีแผนคิดจะใช้คืน หนำซ้ำยังไม่ได้หนี้คืน โดยเฉพาะหนี้จากรัฐบาล”

จี้รัฐบาลจ่ายหนี้เงินสมทบประกันสังคมกว่า 7 หมื่นล้าน

โดยคำของบประมาณจากสำนักงานประกันสังคม 123,968 ล้านบาท แต่รัฐบาลจัดสรรให้เพียง 56,401 ล้านบาท ซึ่งตัดหนี้ที่ค้างจ่ายอีก 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสมทบที่ตนเองต้องจ่าย แต่กลับไม่จ่าย อย่างตัวเลขชัดๆ เป็นหนี้ค้างจ่าย 71,273 ล้านบาท แต่รัฐบาลจ่ายเพียง 4,099 ล้านบาท และผลจากการเหนียวหนี้ ทำให้กองทุนประกันสังคมเสียโอกาสในการนำกองทุนทำผลประโยชน์กลับคืนผู้ประกันตนปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านบาท นี่ขนาดเงินสมทบที่ท่านต้องจ่าย 2.75% ยังติดขนาดนี้ และหากปีหน้ามีการปรับเพดานสมทบจะทำอย่างไร ประเด็นการปรับเพดานจ่ายเงินสมทบก็ยังไม่ชัดเจน ก็ขอให้ออกมาเคลียร์ชัดเจน

เปรียบเทียบสิทธิสุขภาพ 'บัตรทอง' ดีกว่าประกันสังคมเยอะ

ปัจจุบันมีบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ก็อยากให้บอร์ดปกป้องสิทธิของผู้ประกันตน ทุกวันนี้สิทธิแทบจะแย่กว่าบัตรทองในทุกด้าน ไม่ได้ขออะไรมาก แต่ควรได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าเดิม ลองเปรียบเทียบสิทธิการรักษาบัตรทองกับประกันสังคม ง่ายๆ เริ่มจากบัตรทองแค่ลงทะเบียน เลือกสถานพยาบาลก็ใช้สิทธิได้เลย แต่ประกันสังคม ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนตามเงื่อนไขก่อนถึงจะใช้สิทธิได้ หรือการย้ายสิทธิรักษา บัตรทองย้ายได้ 4 ครั้ง/ปี แต่ประกันสังคมได้ครั้งเดียว แม้แต่ค่าทำฟันบัตรทองไม่จำกัดครั้ง ไม่มีวงเงิน แต่ประกันสังคมถอนฟัน ขูดหินปูนไม่เกิน 900บาท/ปี 

“ดิฉันส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจนแก่ สงสัยฟันร่วงหมดปากก่อน”

น.ส.วรรณวิภา กล่าวอีกว่า ยังไม่หมดบัตรทอง ยังได้สิทธิอื่นๆ อย่างโรคมะเร็ง ไม่เสียค่าใช้จ่ายรักษาได้ทุกที่ แต่ประกันสังคม รักษาโรคมะเร็งจะมีเงื่อนไข อย่างเคมีบำบัด รังสีรักษาไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ปี  นอกจากนี้  ในผู้ประกันตนมาตรา 40 ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ เข้าสิทธิน้อยมาก แต่ที่พบมากในปี 2564 ที่มีถึง 10 ล้านคนเพราะมีมาตรการเยียวยาโควิดได้เงิน 5 พันบาทจากรัฐบาล แต่สุดท้ายพอได้รับเยียวยา ก็ไม่ได้ส่งเงินสมทบต่อ กลายเป็นมีแต่ตัวเลข เรียกว่า ผู้ประกันตนผี  จะดีกว่านี้หรือไม่ หากปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากยิ่งขึ้น