ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต แนะสำรวจตนเองและสอดส่องคนใกล้ชิด สังเกตความเสี่ยงโรคซึมเศร้า เช็คสัญญาณเตือนซึมเศร้าซ่อนเร้น แสดงออกได้ในทางตรงกันข้ามกับความรู้สึกแท้จริง พร้อมร่วมสนับสนุนการสร้างภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในทุกภาคส่วน

วันนี้ (9 มกราคม 2567) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพอื่น ๆ อาการที่พบมีหลายอาการ ได้แก่

  • เศร้า
  • เบื่อหน่าย
  • หงุดหงิดฉุนเฉียว
  • ไม่อยากทำอะไร
  • รู้สึกสิ้นหวัง
  • มีอาการนอนไม่หลับ
  • ไม่อยากอาหาร
  • สมาธิลด
  • อ่อนเพลีย
  • ขาดความมั่นใจ
  • การตัดสินใจไม่ดี

อาการพวกนี้มีมากจนมีปัญหาการใช้ชีวิต และนานหลายอาทิตย์ บางคนอาจมีความคิดอยากตายร่วมด้วย ในปัจจุบันได้ผลักดันโรคจิตเวชต่าง ๆ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการรักษาผู้ป่วยทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ การรักษาด้วยยาครอบคลุมในสิทธิประโยชน์

ในขณะนี้ได้มีการหารือเพื่อเพิ่มงบประมาณดูแลสุขภาพจิตเพื่อนำมาพัฒนาโครงการส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพจิตเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจิตเวชทุกกลุ่มวัย ด้วยการสร้างการรับรู้ให้ทุกคนตระหนักและคัดกรองสุขภาพจิตตัวเองในเบื้องต้น ตั้งแต่ชุมชน ติดตั้งระบบให้ความช่วยเหลือสุขภาพจิตในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ได้แก่ ความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เพื่อให้มี “เพื่อน” ช่วยสอดส่องดูผู้ที่เข้าข่ายเกิดภาวะซึมเศร้าและเข้าให้ความช่วยเหลือสุขภาพจิต อีกประการคือ สร้างความตระหนักและความรอบรู้ทางสุขภาพจิต ซึ่งต้องขอบคุณคณะกรรมาธิการสาธารณสุขทุกท่าน ที่สนับสนุนและร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดูแลและสนับสนุนการแก้ปัญหาสุขภาพจิตแก่ประชาชนด้วย 

นพ.ศิริศักดิ์  ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันพบว่ามีคนเป็นโรคซึมเศร้าประมาณว่า 1.2 ล้านคนในประเทศไทย แต่ยังมีหลายคนที่มีอาการแต่ไม่เข้าใจว่าเป็นโรคซึมเศร้า หรือ คิดว่าไม่เป็นอะไร จนอาการมาก บางคนอาจแสดงออกตรงข้ามเพื่อบอกว่ายังไหว บางครั้งเรียกว่าภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Smilling Depression)  คือการแสดงออกที่ไม่ตรงไปตรงมาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แทนที่จะรู้สึกเศร้า หดหู่ หงุดหงิด เก็บตัว ร้องไห้ กลับแสดงออกถึงความรู้สึกที่ในทางตรงกันข้าม ได้แก่ การยิ้ม หัวเราะ คิดว่าไม่เป็นอะไร

การดูแลที่สำคัญ คือ เพื่อน ครอบครัว หรือครู ช่วยกันสังเกตและเฝ้าระวังผู้มีประวัติโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีปัญหาในชีวิต ผู้ที่มีอาการด้านอื่นๆของพฤติกรรม เช่น นอนไม่หลับ กินไม่ได้  และเมื่อรู้สึกว่าคนใกล้ชิดมีปัญหา สามารถแนะนำแบบสำรวจภาวะซึมเศร้าและสุขภาพใจได้ผ่านทาง MENTAL HEALTH CHECK IN [MHCI] หรือ www.วัดใจ.com สามารถชักชวนแนะนำไปพบบุคลากรทางด้านสุขภาพจิตเพื่อไม่ให้สายเกินไปและเข้าสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหากมีปัญหาสามารถขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“หมอพงศ์เกษม” ขอบคุณ “สส.หมิว” กระตุ้นความสำคัญผู้ป่วยโรคซึมเศร้า