หมอธีระวัฒน์-อ.ปานเทพ ร่วมลงนาม MOU หนุนงานวิจัยลองโควิด-19 และผลกระทบของวัคซีนโควิด
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โดยจัดพิธีลงนามขึ้น ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ บางกอก พระนคร
ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการวิจัยและการพัฒนายาสมุนไพรเพื่อเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากยาสมุนไพรให้ได้ประโยชน์สูงสุด จึงตกลงความร่วมมือร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ข้อ
- ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานวิจัย โครงการภาคีเครือข่ายสมองเสื่อมแบบประยุกตร์และงานวิจัยด้าน ลองโควิด-19 และผลกระทบของวัคซีนโควิด
- ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการวิจัย
- ร่วมกันสนับสนุน ผลักดันให้เกิดงานวิชาการและผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ
- ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงให้ความร่วมมือในการดำเนินงานพร้อมทั้งสนับสนุนด้านคำปรึกษา ด้านวิชาการ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การร่วมเป็นหน่วยงานจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เป็นต้น
ทั้ง 2 หน่วยงาน จะประสานความร่วมมือระหว่างกัน และสนับสนุนการดำเนินงานทุกด้าน ตลอดจนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พวกเราไม่ได้ต่อต้านวัคซีน ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อมูลในทางสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปให้รับทราบ และรู้ผลกระทบตามที่ได้ออกแถลงการณ์ไป ตอนนี้โควิดลดสถานการณ์ความรุนแรงแล้ว คุ้มหรือไม่ที่ต้องฉีดวัคซีนโดยไม่ทราบถึงผลกระทบว่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งการลงนามครั้งนี้ เพื่อศึกษาเรื่องสมุนไพรไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย สู่การรักษาภาวะลองโควิด-19 และภาวะลองวัคซีน
สำหรับคนไข้ได้รับผลกระทบจากวัคซีน จะมีเหมือนกับภาวะลองโควิด ภาวะของลองโควิดและภาวะลองวัคซีน จัดลำดับได้เป็น 3 ระยะ
- ระยะที่ 1 ระยะสั้น ภายใน 2 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเกิดจากโควิดหรือเกิดจากวัคซีนจะเสียชีวิตทันที เกิดลิ่มเลือด หรือสมองเสื่อม
- ระยะที่ 2 ระยะกลาง เริ่มตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน มีผลต่อร่างกาย เช่น มีผลต่อหัวใจและปอด ทำให้ทำงานไม่ได้ มีผลต่อระบบทางสมอง อารมณ์และจิตใจ ทำให้คิดไม่ออก ตัดสินใจไม่ได้ มีอารมณ์แปรปรวน หดหู่ ซึมเศร้า และก้าวร้าว เชื่อมโยงกับโรคที่เคยควบคุมได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่เท่าไหร่ก็เกิดภาวะสมองเสื่อมอย่างรุนแรงจนช่วยตัวเองไม่ได้ รวมถึงโรคพาร์กินสันที่มีอาการเด่นชัดจนต้องนั่งรถเข็น รวมทั้งพบผู้ป่วยที่มีอาการสมองอักเสบ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดการอักเสบ โรคที่เคยควบคุมได้อย่างเริมและงูสวัด ก็เจอโรคต่าง ๆ เหล่านี้กลับมาได้ เกิดลำไส้แปรปรวน ในผู้หญิงประจำเดือนมาไม่ปกติ ส่วนผู้ชายมีปัญหาเรื่องสุขภาพทางเพศ
- ระยะ 3 ระยะปลาย หลัง 3 เดือนเป็นต้นไป มีอาการเหมือนกับภาวะลองโควิด
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่เร่งด่วน คือ เรื่องภาวะลองโควิด-19 และผลกระทบต่อวัคซีนโควิด-19 จึงทำให้เกิดพิธีลงนามร่วมกัน หรือ MOU ในวันนี้ โดยได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมต่อสถานการณ์ดังกล่าวเมื่อวานนี้ (14 ม.ค. 2567) เนื่องจากต้องการเปิดเผยความจริงเพื่อนำไปสู่การรวบรวมข้อมูลของผู้ที่เจ็บป่วยที่ไม่ถูกรายงาน นำข้อมูลการรักษาที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน มารวบรวมนำเสนอต่อประชาชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หมอธีระวัฒน์-อ.ปานเทพ แถลงการณ์ร่วมต่อ Long Covid และผลกระทบจากวัคซีน
“ชลน่าน” โต้ปมภาวะลองโควิด-ผลกระทบวัคซีน มอบกรมควบคุมโรคติดตามใกล้ชิด ยังไม่มีรายงานน่ากังวล
- 463 views