ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยผลสำรวจเด็กไทยสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" สูง 17.6% รับรู้พิษภัยลดลง ซื้อผ่านออนไลน์สูง 80% สธ.ร่วม ศธ.ทำ Drop Box ริบบุหรี่ไฟฟ้านักเรียน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเปิดงานเสวนา "เจาะลึก เบื้องหลังบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเด็กไทย" จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ว่า กลยุทธ์ของบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน มีการจัดทำรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งแบบการ์ตูน กล่องนม เพื่อฝังให้เด็กคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา และเด็กจะซึมซับโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ การตลาดต่อไปในอนาคตจะลงไปในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน เพราะบุหรี่มวนมีการจำกัดปริมาณนิโคตินต่อมวน แต่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเติมนิโคตินได้ตลอดเวลา ซึ่งนิโคตินมีผลกระทบทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก และทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน นับเป็นภัยคุกคามเยาวชน ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ามีการแพร่หลายอย่างกว้างขวาง จึงต้องปรับรูปแบบการแก้ปัญหา ทั้งการให้ความรู้และปรับการรณรงค์ให้ตรงเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเยาวชน 

เด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูง 17.6%  ผู้หญิงสูบเพิ่ม!

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยอายุ 13-15 ปี ว่า จากการสำรวจเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พื้นที่โรงเรียนทั่วประเทศ พบข้อสำคัญ 4 ประเด็น คือ 1. การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2558 พบ 3.3% แต่ปี 2565 ล่าสุดพบสูงถึง 17.6% เพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า  ผู้หญิงสูบมากขึ้น 2. อุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์มุ่งเป้าที่เด็ก มีการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว คือ จาก 27% เป็น 48% 

เยาวชนรับรู้พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าลดลง 

3. ความรู้หรือทัศนคติเด็กและเยาวชน เปลี่ยนแปลงไป เดิมเด็กจะเข้าใจพิษภัยบุหรี่ ตอนนี้เด็กมีความรู้หรือคิดเห็นควันบุหรี่มือสองลดลง อย่างการตัดสินใจเลิกยาสูบลดลงจาก 72.2% เหลือ 59% เด็กอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจปลอดภัยกว่าบุหรี่ หรือควันในบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย และ 4. การสื่อสาร พบว่าเด็กรับทราบสื่อต่างๆ เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ลดลงทุกช่องทางสื่อ จาก 74.9% เหลือ 61.3% หรือตามงานอีเวนต์ต่างๆ ที่รณรงค์ก็ลดลงจาก 72.2% เหลือ 62.4% ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ที่เรามีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เริ่มสูบ หรือสูบแล้วต้องการเลิก พบว่า ลดลงเช่นกันจาก 38.4% เหลือ 28.6% ที่น่าตกใจคือในโรงเรียน พิษภัยที่รับความรู้จากการเรียนการสอนก็ลดลง จาก 76.2% เหลือ 65.8% จึงนำไปสู่เรื่องการแก้ไขปัญหา 

กำหนด 3 มาตรการเร่งด่วน

นพ.ชยนันท์กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจึงนำเรื่องนี้เข้าไปในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วน 3 มาตรการ คือ 1. เคยมีการประกาศนโยบายมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5 มาตรการ จะเน้นย้ำให้ดำเนินการ เราส่งมาตรการลงไปที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งรณรงค์สร้างความตระหนัก การบังคับใช้การเฝ้าระวัง ทุกจังหวัดต้องเร่งดำเนินการ   2. ยกระดับเรื่องการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย เพราะตอนนี้กฎหมายบางครั้งไม่มีความชัดเจน เราต้องให้ผู้บังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจนในการดำเนินคดีต่างๆ เราเน้นเรื่องจับคนขาย และ 3. การปรับกระบวนการสื่อไปถึงเด็กและเยาวชน เพื่อเพิ่มช่องทางและเหมาะกับพฤติกรรมเสพสื่อของเด็ก คือ โซเชียลมีเดียต่างๆ 

"ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ในเรื่องนี้ เพราะภาคธุรกิจบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายหรือเอามาใช้เลิกบุหรี่มวน ซึ่งเป็นข้อความบิดเบือน เราต้องทำให้เด็กเข้าใจ เพราะไม่มีภูมิต้านทานเรื่องนี้ ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างดี" นพ.ชยนันท์กล่าว 

(ข่าว : นักวิชาการเผยแผนล้มกม.ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าในไทย - ชงเพิ่มอายุซื้อบุหรี่เป็น 21 ปี)

ลักลอบขาย-เด็กซื้อผ่านออนไลน์ 80% 

ถามว่าปัจจุบันลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า เยอะมาก ทั้งออนไซต์ตามร้านค้าต่างๆ และทางสื่อโซเชียลต่างๆ พบเห็นการลักลอบการขายอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนใหญ่จากการสำรวจพบว่า มีการซื้อทางออนไลน์เกือบ 80% ผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็เร่งดำเนินการ โดยพยายามบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองปราบปรามเอาจริงเอาจังมากขึ้น เราเห็นความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองเยาวชน 

"เราอาจจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น เพราะว่าการบังคับใช้กฎหมายทางอินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์ยากมาก แม้บางครั้งผู้บังคับใช้กฎหมายพบเห็นไปปิดเว็บไซต์ สักพักก็เปิดใหม่ได้ การปราบปรามก็สำคัญ แต่สำคัญกว่าคือรณรงค์ให้เด็กรับทราบโทษพิษภัยจริงๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า อย่างการลงพื้นที่ เราพบเด็ก ป. 3 จ.สกลนคร ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ราคาถูกสุดแบบพอตราคาแค่ 97 บาท มองว่าตรงนี้จะแทรกซึมเข้ามาและแพร่หลายมากขึ้น จะเกิด New Generation Addiction หรือยุคสมัยของการเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น หลังเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นช่องทางไปสู่สิ่งเสพติดอื่น นโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นปราบปรามยาเสพติดอยู่แล้ว ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นช่องทางหนึ่งทำให้เด็กเข้าถึงยาเสพติดชนิดอื่นๆ ด้วย" นพ.ชยนันท์กล่าว 

สธ.ร่วม ศธ.ทำ Drop Box ริบบุหรี่ไฟฟ้า นร. 

ถามถึงการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะเด็กมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนมากขึ้น  นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หารือร่วม ศธ.อยู่แล้ว จะทำอย่างไรเมื่อพบเห็นว่านักเรียนครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ตอนนี้มีมาตรการที่ ศธ.จะดำเนินการเพื่อสื่อสารลงไปในโรงเรียนทุกแห่งว่า ว่าหากเจอในเด็กนักเรียน เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนผิด เราคิดว่าเป็นเหยื่อ เราจะให้มีตัว Drop Box ให้หย่อนบุหรี่ไฟฟ้าลงไป เหมือนเวลาผ่านด่านศุลกากรต่างๆ ในการยึดของกลาง ก็จะส่งให้ตำรวจไปทำลาย 

เมื่อถามถึงสถานการณ์เยาวชนที่เจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าหรือการเกิดโรค EVALI นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ EVALI มีการพบเห็นและรายงาน แต่กรมควบคุมต้องมีการสอบสวนลงไป ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเราจะต้องเร่งเก็บข้อมูลต่างๆ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมาใหม่ โทษพิษภัยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แน่ชัดสุดคือเรื่องสมอง แต่จริงๆ ไม่ต้องรอผลข้อมูลพวกนี้ ไม่ต้องรอให้เกิด เมื่อมีความเสี่ยงเราต้องป้องกันให้ได้ 

อ่านเพิ่มเติม :  “หมอประกิต” โต้กลับหมอ อดีตสส. ปมกม.นำเข้า-จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า  ด้าน สสส.ไม่หนุนสิ่งทำลายสุขภาพ