ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส เผยผู้ป่วยพึงพอใจ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ มี Health Rider ส่งยาถึงหน้าบ้าน ลดการรอคอยหน้าห้องยา ส่งไวภายใน 1 วัน

จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ขับเคลื่อนโดย 4 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย เพชรบุรี แพร่ ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ซึ่งโรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส เป็นหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ภายหลังดำเนินการมาแล้วกว่า 1 สัปดาห์ มีประชาชนให้ความสนใจ โดยเฉพาะการส่งยาและเวชภัณฑ์ที่บ้าน (Health Rider) ที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญ เพราะสะดวกสบาย ลดการรอคอยหน้าห้องยา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 นพ.ภุชงค์ วงศ์หิรัญรัชต์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการ เพียงแค่ผู้ป่วยลงทะเบียนหมอพร้อม ยืนยันตัวตนผ่าน Health ID ก็สามารถใช้บริการได้ เมื่อผู้ป่วยยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน จะเหมือนมีสมุดสุขภาพเป็นของตัวเอง ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น คุยกับแพทย์ (Telemedicine) หรือ คุยกับเภสัชกร (Telepharmacy) โดยเฉพาะการใช้ Health Rider ที่ให้ความสะดวกกับประชาชน  

Health Rider ส่งยาถึงหน้าบ้านภายใน 1 วัน

ด้านการทำงาน Health Rider ของ รพ.ตากใบ แบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน นพ.ภุชงค์ อธิบายว่า ห้องยาภายในโรงพยาบาลจะเป็นระบบหลังบ้าน มีหน้าที่แพ็คยา ส่วนบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะเป็นไรเดอร์ เพราะชินพื้นที่ รู้เส้นทางในการนำยาไปส่ง ซึ่งงบประมาณที่ใช้ ไม่ได้มีการจัดสรรเพิ่มเติม แต่ใช้งบฯเดิมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยโควิด ที่มีการทำ Home Isolation การส่งยาให้ถึงบ้านหรือส่งยาผ่านทางไปรษณีย์ เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น จึงจัดสรรงบฯมาเป็น Health Rider แทน

"Health Rider เริ่มจากผู้ป่วยที่มีรัศมี 15 กิโลเมตรจากโรงพยาบาล ประชาชนที่ถือบัตร 30 บาท ทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับยาอยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่อยู่ภายในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาล จะได้รับยาภายในวันนั้นเลย หากมาตรวจช่วงเช้า จะได้รับยาในช่วงบ่าย หากมาในช่วงบ่ายก็จะได้รับยาช่วงเย็น ตอนนี้มี Health Rider เพียงพอในการส่ง ซึ่งจะมีอยู่ 6 ตำบล แต่ตำบลอื่น ๆ จะส่งยาผ่านทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยจะได้รับยาภายใน 2-3 วัน" นพ.ภุชงค์ กล่าวและว่า การส่งยาจะพิจารณาในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) เช่น กลุ่มโรคความดันโลหิต และกลุ่มโรคเบาหวาน ที่มีการใช้ยาชนิดเดิม และมีความรู้ในการใช้ยาอยู่แล้ว ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการ ขณะนี้มีประมาณ 20 คนต่อวัน

ผู้ป่วยพึงพอใจ! ไม่ต้องรอนาน

สำหรับเสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการ นพ.ภุชงค์ กล่าวว่า เสียงตอบรับดี เพราะลดการรอคอยจากหน้าห้องยาได้ 

"บัตร 30 บาท ที่เคยเรียกกันว่า บัตรคนจน ตอนนี้อัปเกรดเป็น 30 บาทพลัส ตามนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีสิทธิประโยชน์หลายอย่างที่ใช้ได้ จึงมีเสียงสะท้อนจากสิทธิอื่น ๆ อยากได้รับบริการนี้บ้าง ทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ"

ผู้ป่วย รพ.ตากใบ ยืนยันตัวตนผ่าน Health ID แล้ว 44% 

นพ.ภุชงค์ เสริมว่า รพ.ตากใบ ตอนนี้มีการยืนยันตัวตนของผู้ป่วยแล้ว 44% เพราะดำเนินการมาได้กว่า 1 สัปดาห์ อีกทั้งเป็นโรงพยาบาลชุมชน จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ในตัวโครงการต่อไป เพราะยังมีประชาชนที่ไม่ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ เชื่อว่า การประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ ผู้ป่วยได้ใช้บริการในชุดสิทธิประโยชน์นั้น แล้วมีการบอกต่อแบบปากต่อปาก ส่วน อสม. ก็มีการบอกต่อเช่นกัน เพราะได้รับรายได้ในส่วนของ Health Rider

เมื่อถามถึงภาระงานของบุคลากรสาธารณสุข นพ.ภุชงค์ ยอมรับว่า ในช่วงแรกจะมีภาระงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน ประชาชนต้องมาลงทะเบียนหมอพร้อมเพื่อยืนยันตัวตน จึงต้องใช้กำลังคนเข้ามาดูแล แต่ระยะยาวเมื่อผู้ป่วยลงทะเบียนครบแล้ว ระบบต่าง ๆ ดีขึ้น จะสามารถลดภาระงานด้านสาธารณสุขในอนาคตได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในวันที่ 5 ก.พ. 2567 รพ.ตากใบ จะออกชุมชน หรือออกตรวจตาม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เชื่อว่า สัปดาห์หน้าจะมีผู้ป่วยใช้บริการ Health Rider มากขึ้น ซึ่งได้แจ้งไปยังผู้อำนวยการของ รพ.สต. ในแต่ละพื้นที่แล้ว จากเดิมที่รับยาได้ที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน จากนี้ก็จะสะดวกมากขึ้นไปอีก