ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” เผยผลติดตาม ‘30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว’ เกือบ 1 เดือนราบรื่น! ประชาชนพอใจ โดยเฉพาะส่งยาที่บ้าน ส่วน ‘ผู้ให้บริการ’ ยังไม่มีข้อร้องเรียนใดๆ  สั่งรพ. 4 จ.นำร่องสรุปผลลดระยะเวลารอคอย คาด 1 เดือนเริ่มรู้!  เตรียมประชุมขยายเฟสสอง 2 ก.พ.นี้  รวมผู้เกี่ยวข้อง 8 จังหวัดเตรียมระบบ พร้อมคิกออฟระยะสองเดือนมี.ค. 67   

 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามผลการดำเนินการ “30 บาทรักษาทุกที่” ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว นำร่อง 4 จังหวัด มีแพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส ว่า จากที่ได้รับดำเนินงานผลดำเนินงานที่เฝ้าระวัง ทั้งผู้รับบริการ ภาคประชาชน ผู้ให้บริการ และข้อมูลเชิงระบบที่นำมาดำเนินการ ขณะนี้ยังไม่ก่อปัญหาใดๆ ความพึงพอใจประชาชน กำลังอยู่ขั้นตอนการวัดผลออกมา ซึ่งเป็นตัวสำคัญว่าประชาชนพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน  แต่เท่าที่วางแนวทาง การรับฟังเสียงสะท้อน คู่สาย 1330 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) วางไว้ 4 จังหวัด ยังไม่พบปัญหา อาจติดขัดเล็กน้อยบ้าง ยังไม่ได้รับผลกระทบ

ผู้ให้บริการ ยังไม่พบเสียงเรียกร้องจาก 30 บ.รักษาทุกที่

“ส่วนผู้ให้บริการนั้น ยังไม่มีเสียงเรียกร้อง เสียงบ่นจากผู้ให้บริการ จะมีช้าบ้างเรื่องขึ้นทะเบียน Provider ID  ของผู้ให้บริการ ซึ่งต้องระบุตัวตนการเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  แต่ขณะนี้ก็มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกือบครบทั้งหมดแล้ว ส่วนเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลไม่มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากเรามีระบบเตรียมป้องกันตลอด” นพ.ชลน่าน กล่าว

มอบ 4 จ.นำร่องดูรายละเอียดผลการลดเวลารอคอย

ผู้สื่อข่าวถามกรณีวางกรอบการประเมินผลการลดเวลารอคอยของคนไข้ จากโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่อย่างไรบ้าง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การลดระยะเวลารอคอยเป็นเป้าหมายอยู่แล้ว แต่ละพื้นที่จะไปดูรายละเอียด วางแนวทางเอาไว้ว่า คนมารับบริการเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เป็นคนในพื้นที่หรือต่างพื้นที่ ส่วนระยะเวลาที่เข้ามาใช้บริการตั้งแต่เริ่มต้นจุดสตาร์ทตรงตู้ลงทะเบียนคีออส จนจบกระบวนการใช้เวลาเท่าไร  รวมถึงระบบบริการอื่นๆ  เช่น การส่งยาที่บ้านทั้งไปรษณีย์ อสม.ไรเดอร์ หรือรับร้านยา จะมีการประเมินผลออกมา

“ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นยังไม่ได้มีการรวบรวมผลการประเมิน เป็นเสียงสะท้อน อย่างรพ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ไปพบแพทย์เช้า กลับออกมา 10.30 น. ใช้บริการส่งยาถึงบ้านไม่ต้องรอ เจ้าหนาที่ส่วนกลางขอพิกัดไม่เกิน 3 วัน ปรากฎว่า ตอนเย็นวันเดียวกันส่งยาถึงบ้านแล้ว ขอชมเชยเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดี พูดจาดี มีรอยยิ้ม นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่รับบริการใน รพ.จังหวัดระนอง ก็มีการขอบคุณและชื่นชมการบริการ” นพ.ชลน่าน กล่าว

(่ข่าว : ปชช.ชื่นชม รพ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี "จัดส่งยาทางไปรษณีย์" รวดเร็วทันใจ)

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า  ดังนั้น  เราพยายามวางเครื่องมือวัด ข้อกังวลเรื่องการใช้บริการเกินจำเป็นหรือบริการข้ามเขต ที่ก่อนหน้านี้มีสมมติฐานว่า ถ้ามีโครงการบัตรประชาชนใบเดียว จะมีการแห่ไปใช้บริการรพ.ระดับสูงมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นเพชรบุรีเพิ่มแค่ 5% ทั้งรพ.ชะอำ และรพ.พระจอมเกล้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่เรายอมรับได้ ไม่กระทบผู้ให้บริการ อีกทั้ง ตัวเลขนี้เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ย้ายถิ่นมาทำงานในจ.เพชรบุรี กล่าวคือ ย้ายถิ่นมาทำงาน  อย่างชะอำประชากรแฝง 3 หมื่น พอมีเรื่องนี้เอาบัตรประชาชนมายืนยันตัวตนทำ Health ID รับบริการทีนั่นเลย

เมื่อถามว่าตั้งกรอบเวลาในการประเมินผลการลดระยะเวลารอคอยของคนไข้อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จริงๆ ประมาณ 1 เดือนน่าจะทราบผล เราพยายามให้หน่วยบริการทำเป็นโครงการนำร่องดูเรื่องนี้

ประชุม 2 ก.พ.ถกเฟสสองขยาย 8 จังหวัด

ถามถึงกรณีเฟสสองที่จะเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม 67 มีข้อกังวลหรือต้องเตรียมระบบอะไรเป็นพิเศษ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ 8 จังหวัด  ได้แก่  เพชรบูรณ์  นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา โดยจะประชุมทั้งผู้บริหารผู้ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมร่วมกัน ในการวางระบบดูแลทั้งหมดในพื้นที่ตรงนั้น เมื่อพร้อมทั้ง 8 จังหวัดจะประกาศคิกออฟรอบสอง คาดว่าเดือนมีนาคม 2567 น่าจะประกาศได้

ส่วนข้อกังวลมีอะไรบ้างนั้น ในเรื่องเชิงระบบ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ไม่มีข้อกังวล  หรือการขึ้นทะเบียนทั้งผู้มาใช้บริการหรือผู้ให้บริการก็ไม่กังวล เพราะจากประสบการณ์ 4 จังหวัด เราได้เรียนรู้เรื่องความล่าช้ากรณีดูแลผู้ป่วยรายใหม่หรือย้ายถิ่นมาทำงานในจังหวัด อย่างชะอำ จ.เพชรบุรี กรณีมาทำงาน มาบริการครั้งแรก จะต้องยืนยันตัวตนก่อน โดยต้องนำบัตรประชาชนมาใส่ข้อมูลไว้ใน “หมอพร้อม” เพื่อทำข้อมูล Health ID มีการซักประวัติ เช่น ที่อยู่ปัจจุบันที่ไหนอย่างไร  ตรงนี้อาจเสียเวลาบ้างช่วงแรก แต่เมื่อเรามีข้อมูลนี้ก็นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นในเฟสสอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระผู้ป่วยมาก  นอกจากนี้ เราให้ความสำคัญ Cyber Security ที่ต้องเฝ้าระวังตลอด อย่างจ.ร้อยเอ็ด วันที่จะเปิดวันที่ 7 มกราคม เราถูกโจมตีก่อนวันเปิด แต่ด้วยระบบที่เราวางป้องกันไว้อย่างน้อย 3 ชั้น จึงทำให้ป้องกันและแก้ปัญหาได้เร็ว ทำให้สามารถเปิดโครงการได้