30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พื้นที่ “กทม.” นโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทยจะกลับมาขึ้นหิ้งเหมือนสมัย “30 บาทรักษาทุกโรค” ได้อีกครั้งหรือไม่ และปัจจุบันคนกรุง ใช้บริการบัตรทองใกล้บ้านอะไรได้บ้าง
กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่ถูกจับตามองมากที่สุด ถึงความสำเร็จของนโยบาย “ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ยิ่งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุจังหวัดที่ดำเนินการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพิ่มขึ้น 42 จังหวัด จากเดิมประกาศในเฟสแรก 4 จังหวัด รวมเป็น 46 จังหวัด มีพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” อยู่ในนั้น โดยให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ย่อมทำให้เกิดความสงสัยว่า สามารถใช้บัตรประชาชนไปรักษาที่ไหนก็ได้ ทั้งรพ.รัฐ รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ ศิริราช รามา จุฬา หรือรพ.เอกชนด้วยใช่หรือไม่ สวนทางกับปัญหาที่ผู้ป่วยบัตรทองในกทม.กำลังประสบอยู่ตั้งแต่ สปสช.มีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่น(ตามที่คลินิกฯ เคยเรียกร้องก่อนหน้านั้น) “OP New Model 5” แบบเหมาจ่ายรายหัวและตามจ่ายกรณีส่งต่อตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ทำให้ผู้ป่วยบัตรทอง เกิดปัญหาใบส่งตัว เพราะคลินิกชุมชนอบอุ่นในโครงการบัตรทอง ไม่ออกใบส่งตัว หรือมีข้อจำกัดในการออกใบส่งตัวผู้ป่วยไปรักษา รพ.แม่ข่าย ขณะที่รพ.นอกสังกัดสธ. ก็ยังต้องการใบส่งตัว ส่วนรพ.เอกชนที่ไม่ใช่เครือข่ายบัตรทอง ไม่เข้าร่วม
ขณะที่ สปสช.ย้ำตลอดว่า ไม่ต้องมีใบส่งตัวก็ต้องรักษาได้ ทางสปสช.จะตามจ่าย กลายเป็นเรื่องนี้ยังคาราคาซัง สุดท้ายมีการเปิดเวทีทั้งของสภาองค์กรของผู้บริหาร และของสปสช.เอง ได้ขอสรุปว่า สปสช.จะเร่งแก้ปัญหาเคลียร์เรื่องการเบิกจ่าย ที่ต้องไม่มีใบส่งตัวเป็นอุปสรรคภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ระหว่างรอการดำเนินการประเด็นใบส่งตัวคลินิกฯ มาสรุปสาระสำคัญเรื่อง “30 บาทรักษาทุกที่ฯ” ใน กทม. ว่า ณ ขณะนี้ ผู้ป่วยบัตรทองใช้บริการอะไรได้บ้าง
ข้อมูลจากการโทรสอบถามสายด่วน 1330 คือ
- ขณะนี้ กทม.ยังไม่สามารถดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เนื่องจาก กทม.เป็นพื้นที่ซับซ้อน จึงขอให้ประชาชนรอรับฟังข่าวสารอัปเดต หากมีความพร้อมจะประกาศให้ทราบทันที
- หากเจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถยื่นบัตรประชาชนใบเดียวเพื่อรับบริการที่ร้านยาคุณภาพได้ ซึ่งจะมีสติกเกอร์ติดหน้าร้าน ว่า ร้านยาคุณภาพของฉัน
- ส่วนคลินิกชุมชนอบอุ่น หากต้องรักษาต่อเนื่อง ยังต้องรับบริการที่คลินิกตามสิทธิ แต่หากไม่สะดวกพื้นที่อยู่ไกล ก็สามารถรับบริการคลินิกชุมชนอบอุ่นอื่นๆได้ ภายใต้โครงการ Op anywhere แต่ต้องสอบถามทางคลินิกนั้นๆ
- กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังคงเป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) รักษาที่ไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ส่วนข้อมูลจากผู้บริหาร
- นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ย้ำว่า การประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องของการเตรียมระบบ มีการเชื่อมเครือข่ายทั้งหมด แต่ในส่วนของ กทม. ยังไม่ถึงคิว กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการ
- นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ย้ำว่า กทม. ยังไม่เริ่มตามแนวทาง 30 บาทรักษาทุกที่ โดยขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมรองรับ ทั้งในส่วนของการเตรียมงบประมาณ การเชื่อมต่อระบบบริการ และการจัดเตรียมหน่วยบริการเพื่อให้การดูแลประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่าในพื้นที่ กทม. เป็นพื้นที่มีความซับซ้อน ทั้งในด้านประชากรและจำนวนหน่วยบริการที่ไม่เพียงพอ
- ขณะนี้ สปสช.ร่วมกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการเชิญชวน ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนประเภทต่างๆ เข้าร่วมดำเนินการเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท นอกจากไปรักษาได้ที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิแล้ว ยังเข้ารับการรักษาที่หน่วยนวัตกรรมที่เข้าร่วมกับ สปสช. ประกอบด้วย ร้านยาคุณภาพ คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
- ประชาชนสามารถไปใช้บริการนอกเวลาราชการ หรือหลังเลิกงานได้ หรือตามเวลาเปิดทำการของคลินิกเอกชน คลินิกวิชาชีพต่างๆที่ร่วมกับสปสช. หรือติดต่อสอบถามการรับบริการได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางออนไลน์ ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
เห็นได้ว่า การขับเคลื่อน “30 บาทรักษาทุกที่ฯ” ในพื้นที่ กทม. ไม่ใช่เรื่องง่าย ในแง่ของการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกสังกัด เพราะกทม. มีความซับซ้อน มีรพ.หลายสังกัด ไม่ใช่แค่ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพราะเฉพาะสังกัดสธ.มีเพียงไม่กี่แห่ง อย่างรพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี ซึ่งล้วนอยู่สังกัดกรมการแพทย์ ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นรพ.โรงเรียนแพทย์ ทั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ หรือแม้แต่รพ.จุฬาภรณ์ รวมไปถึงรพ.สังกัดทหาร ตำรวจ และรพ.เอกชน ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการบัตรทอง ต่างมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
ทั้งหมดอยู่ที่ว่าระบบการเบิกจ่ายเงินของสปสช. จะเอื้อต่อรพ.นอกสังกัดแค่ไหน ต้นทุนเพียงพอหรือไม่ ขณะที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนคนกรุงเทพ หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิแทน ซึ่งประเด็นการรับบริการปฐมภูมิ ก็ต้องมาตีความว่า จะเป็นเฉพาะคลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยา ที่เข้าร่วมกับ สปสช.อย่างเดียวหรือไม่ หรือต้องมีหน่วยบริการเทียบเท่า รพ.ชุมชน ในต่างจังหวัดที่เรียกว่าเป็นระบบปฐมภูมิจริงๆ ใครจะเป็น ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ควรต้องมารับหน้าที่ตรงนี้หรือไม่
สอดคล้องกับ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลในเวทีสภาผู้บริโภคประเด็น “แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานครเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค” เมื่อไม่นานมานี้ ว่า ปัญหาคนกทม. ไม่เหมือนต่างจังหวัด ทางสปสช.ไม่ควรจ่ายเงินให้หน่วยบริการแบบเดียวกันทั้งประเทศ การปรับเปลี่ยนโมเดลการจ่ายเงิน แต่ไม่ปรับเงิน ก็แก้ปัญหาไม่ได้อย่างแท้จริง ระบบบริการในกทม. พิกลพิการ ไม่เหมือนต่างจังหวัด เพราะหากจะใช้โมเดลอุดมคติที่ประสบความสำเร็จในชนบทจะเป็นแบบนี้ ที่สำเร็จเพราะ ปฐมภูมิ และทุติยภูมิ เป็นหน่วยงานของรัฐ แบกรับภาวะขาดทุน แต่คลินิกเป็นเอกชน ดังนั้น หากจะใช้โมเดลแบบต่างจังหวัด กทม.ต้องเปลี่ยนบทบาท และรับความเสี่ยง
(อ่านข่าว : อปสข.13 เตรียมหารือทางออกจ่ายเงินใหม่ แก้ปม ‘ส่งตัวผู้ป่วยบัตรทอง กทม.’ )
นี่ขนาดยังไม่ถึงคิวรัน “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ใน กทม.ยังมีปัญหาขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่จะถูกจับตามองว่า สุดท้ายแล้วจะเดินหน้าได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะยอมรับว่า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เป็นนโยบายที่ดีในแง่การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และได้รับเสียงตอบรับที่ดีในหลายพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 45 จังหวัด ส่วนใหญ่ประชาชนพอใจ นั่นเป็นเพราะโรงพยาบาลที่ให้บริการ เป็นรพ.ของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข การทำงานเชื่อมข้อมูล เชื่อมระบบร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จึงพูดคุยกันได้ง่ายกว่านอกสังกัด
ที่สำคัญหน่วยปฐมภูมิต่างๆ ที่เข้าร่วมกับ สปสช. ไม่ว่าจะเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น ทั้งคลินิกเวชกรรม ทันตกรรม พยาบาล กายภาพบำบัด หรือแม้แต่ร้านยาคุณภาพ ก็มีการทำงานเชื่อมเครือข่ายกันมาตลอด ที่สำคัญยังมีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ และมีเดลิเวอรีจัดส่งยา ที่เรียกว่า เฮลธ์ไรเดอร์ อำนวยความสะดวกส่งยาถึงบ้านให้ผู้ป่วยอีก ส่วนระบบหลังบ้าน ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็มีการดำเนินการ
แต่พื้นที่ กทม. แตกต่างออกไป คงต้องจับตากันว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะขับเคลื่อนนโยบายเรือธง “30 บาทรักษาทุกที่ฯ” โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ให้ออกมาในรูปแบบใด ตามไทม์ไลน์คือ ภายในสิ้นปี 2567 ต้องเห็นผล..
ดังนั้น หากสามารถอำนวยความสะดวกในแง่การรักษาพยาบาลให้คนกรุงเทพฯได้จริง จะเป็นอีกผลงานโบว์แดงที่กลับมาขึ้นหิ้งเฉกเช่นสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” กับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ไม่มีพรรคไหนล้มได้...
แฟ้มภาพ
- 497 views