ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กสม. ยันผลตรวจสอบ “ทันตกรรม” กองทุนประกันสังคม 900 บาท/คน/ปี ละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง หลังฟังความเห็นรอบด้าน ได้ต่ำกว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน "บัตรทอง" ไม่พบใช้สิทธิ รพ.รัฐได้ไม่จำกัดวงเงินตามอ้าง เผยผลหารือร่วม สปส. สปสช. สธ. ผู้เชี่ยวชาญ เห็นตรงคลอดสิทธิมาตรฐานเดียว ลดเหลื่อมล้ำ

 

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวรายงานผลการตรวจสอบกรณีประกันสังคมกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนให้เบิกได้เฉพาะกรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รวมกันทุกรายการไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี เป็นการกำหนดวงเงินการเบิกค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อความจำเป็น อันเป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพของผู้ประกันตน ซึ่งควรได้รับสิทธิไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง นั้น

กสม. ขอชี้แจงว่า รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวมีการรับฟัง ตรวจสอบและสอบทานข้อเท็จจริงจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง ทันตแพทยสภา สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สภาองค์กรของผู้บริโภค ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิและองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

"ขอยืนยันว่า การกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี เป็นการกำหนดวงเงินสิทธิประโยชน์ที่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขขั้นต่ำที่คนไทยทุกคนได้รับ อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมการรักษาทันตกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน ทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ ซึ่งแตกต่างจากผู้มีสิทธิบัตรทองที่เบิกค่าบริการทางการแพทย์ได้ นอกจากนี้ ไม่พบข้อเท็จจริงว่า ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรักษาด้านทันตกรรมใน รพ.ของรัฐได้อย่างไม่จำกัดวงเงิน ตามที่เป็นข่าว" น.ส.สุภัทรากล่าว

 

น.ส.สุภัทรากล่าวว่า เมื่อประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงในสังคม เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา กสม.ได้ประชุมร่วมกับผู้แทน สปส. สปสช. และสำนักงานปลัด สธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เพื่อหารือถึงสถานการณ์ปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยเห็นพ้องกันว่า กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นด้านบริการทันตกรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระหว่างผู้รับสิทธิประโยชน์ของทั้งสองกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ทุกเดือน

 

กสม. มีข้อแนะนำเบื้องต้นให้กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข หารือร่วมกันถึงแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์หรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นด้านบริการทันตกรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดย กสม. พร้อมเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมประสานและสนับสนุนให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และมีสิทธิเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน อันสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนสากล