ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เยี่ยมชม "อโรคยศาล วัดคำประมง" จ.สกลนคร สถานชีวาภิบาลแห่งแรกของไทย ดูแลผู้ป่วยประคับประคองระยะสุดท้าย โดยใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน เน้นดูแลทางจิตวิญญาณ เตรียมขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการเฉพาะด้านชีวาภิบาลในระบบ สปสช.  

เมื่อ 2 กุมภาพันธ์  2567 ณ สถานชีวาภิบาลวัดคำประมง จังหวัดสกลนคร ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ  รองเลขาธิการสปสช. และนพ.ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผอ.สปสช เขต 8 อุดรธานี นายแพทย์กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานวัดคำประมงหลังได้รับขึ้นทะเบียนหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาลแห่งแรกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยระยะท้าย (palliative care) เป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญและในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ในหลายพื้นที่ ขณะที่ สปสช. ก็ได้ขับเคลื่อนในการสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเต็มที่

โดยที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 25 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการกําหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งจะทำให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆนอกเหนือจากโรงพยาบาลที่ให้บริการแบบประคับประคอง สามารถเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองและสามารถเบิกจ่ายเงินค่าบริการจาก สปสช. ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

"ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงการดูแลแบบประคับประคอง เรามักนึกถึงการดูแลในโรงพยาบาล หรือการให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านโดยมีทีมงานจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข้าไปดูแล แต่นอกเหนือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขแล้ว ยังมีองค์กรอื่นๆที่มีศักยภาพในการจัดบริการลักษณะนี้ เช่น วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด หรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินการในด้านนี้ เช่น ชุมชนกรุณา (peaceful death) ชีวามิตร เยือนเย็น เครือข่ายมิตรภาพบําบัด ฯลฯ หรือแม้แต่เนอร์สซิ่งโฮมต่างๆ องค์กรเหล่านี้หลายแห่งก็ดำเนินการมานานแล้ว แต่ สปสช. เราจะทำให้ชัดเจนขึ้น ให้องค์กรเหล่านี้ทั้งนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล หรือ หน่วยชีวาภิบาล ที่ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช.ได้" รองเลขาธิการสปสช.กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า การที่วัดอย่างเช่นวัดคำประมงได้ดำเนินการสถานชีวาภิบาลขึ้นมา ถือว่ามีความเหมาะสมอย่างมาก ผู้ป่วยนอกจากจะได้รับการดูแลทางร่างกายแล้ว ยังได้รับการดูแลทางจิตใจ มีความสงบและคุณภาพชีวิตสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นอีกบทบาทหนึ่งขององค์กรศาสนาที่มีต่อชุมชน และสอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ที่ต้องการขับเคลื่อนให้วัดเป็นผู้นำทางด้านสุขภาพแก่คนในชุมชน และในเร็วๆนี้ สปสช. พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการทำ MOU กับองค์กรด้านศาสนาเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยตั้งเป้าว่าจะมีสถานชีวาภิบาลในลักษณะนี้อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง  

ด้าน หลวงตาปพนพัชร์ ภิบาลพักตร์นิธี  เจ้าอาวาสวัดคำประมง  กล่าวว่า  การดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ อโรคยศาล วัดคำประมง จะเริ่มตั้งแต่การดูประวัติผู้ป่วยก่อนว่าได้รับการรักษาใดมาบ้าง เป็นผู้ป่วยมะเร็งจริงหรือไม่ เพื่อนำมาประมวลและหาวิธีดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย โดยใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน เรามีวิธีดูแลทั้งดูแลทางจิตวิญญาณ มีการทำวัตร สวดมนต์เย็น กิจกรรมเทศนา ดนตรีบำบัด ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปลดปล่อยความทุกข์ในจิตใจได้ ซึ่งการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยบัตรทองซึ่งแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม “ความสุขของหลวงตา คือการได้เย็นรอยยิ้มของทุกคน สิ่งที่อยากเห็นที่สุด คือ คนไข้พ้นทุกข์จากจิตวิญญาณ ถ้าทางจิตวิญญาณยังจมอยู่ในทุกข์ เราก็ไม่มีวันรอด ”  เป้าหมายของการมารักษาที่อโรคยศาล วัดคำประมง จึงไม่ได้คาดหวังว่าผู้ป่วยต้องหายจากโรคเพียงอย่างเดียว  แต่ให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีความสุขทางจิตวิญญาณ หากอาการดีขึ้นก็ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างเห็นคุณค่าของชีวิต หากเมื่ออาการของโรคลุกลามไปมากขึ้น ก็พร้อมยอมรับว่าความตาย คือกระบวนการทางธรรมชาติ ถ้าจะจากไปก็จากไปอย่างสงบ สิ่งนี้คือการตายดี   
 

ด้านนางสาววิไลลักษณ์ ตันติตระกูล  พยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง ปฏิบัติงานที่วัดคำประมง กล่าวว่า อโรคยศาล วัดคำประมง  เริ่มก่อตั้งมาในปี 2547  เพื่อให้การรักษาและดูแลผู้ป่วยมะเร็งโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ  ศาสนาและไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากกว่า 6,500  คน และ 95% เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายโดยใช้ศาสตร์ภูมิปัญญาตะวันออกแบบผสมผสานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว  ครอบคลุมด้านร่างกาย  ด้านจิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อม  ภายใต้สถานที่ภายในวัดมีพื้นที่มากกว่า 300 ไร่  ที่นี่ คือ  “หมู่บ้าน มะเร็งวิลล่า สปา แอนด์ รีสอร์ต” มีอาคารตึกพร้อมให้บริการ  ได้แก่ ตึกกตปุญโญ  ตึกมิถิลานคร ตึกฟ้ารังษี และตึกสงฆ์อาพาธ  และบ้านเดี่ยว  มีเตียงรวม 60-100 เตียง  มีการจัดการขยะติดเชื้ออย่างถูกสุขลักษณะ

สถิติผู้ป่วยที่มารักษาตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 6,569 ราย แยกเป็นหญิง 3,172 ราย ชาย 3,397 ราย  ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลในปี 2566  พบว่า  10 อันดับโรคมะเร็ง  ได้แก่  1) มะเร็งลำไส้ใหญ่  2) มะเร็งปอด  3) มะเร็งท่อน้ำดี 4) มะเร็งตับ 5) มะเร็งเต้านม 6) มะเร็งตับอ่อน  7) มะเร็งปากมดลูก 8) มะเร็งหลอดอาหาร   9) มะเร็งต่อมลูกหมาก  และ 10) อื่น ๆ  

“ที่แห่งนี้เป็นโรงพยาบาลที่ผู้คนเรียกว่าโรงพยาบาลมีความสุขที่สุดในโลก ผู้ป่วยที่มารักษากับหลวงตามาจากทั่วโลก ทั้งคนไทยและต่างประเทศ การรักษาที่นี้มีสโลแกนคือ“อยู่สบาย ตายสงบ  งบไม่เสีย”  ในมุมมองของชาวต่างประเทศที่มาที่นี่ แล้วสะท้อนให้เราทราบว่า  ที่นี่เป็นสถานที่พิเศษและสร้างแรงบันดาลใจและพบความสุขแท้จริง ที่นี้ได้เรียนรู้และท้าทายอีกมากมายที่ได้เอาชนะความทุกข์ทรมานและพบความสุขแท้จริง  เป็นที่เรียนรู้และท้าทายให้แรงบันดาลใจ นอกจากนี้ อโรคยศาล วัดคำประมง ยังเป็นแหล่งฝึกงานการดูแลด้วยภูมิปัญญาตะวันออกแก่นักศึกษาและบุคลกรทางสาธารณสุข เช่น นักศึกษาปริญญาโท –เอก คณะพยาบาลศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาแพทย์แผนไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ”นางสาววิไลลักษณ์ กล่าว

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง