ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์กรผู้บริโภค ค้าน “ชลน่าน” เดินหน้าตั้งบอร์ดผู้ให้บริการ หรือ Provider Board ชี้ไม่ควรจัดตั้งผ่านคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  อาจขัดหลักการและผิดเจตนารมณ์ของระบบสิทธิบัตรทอง และอาจทำให้ระบบการรักษาสุขภาพดังกล่าวถูกภาครัฐกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ หวั่นไร้เสียงประชาชน

 

จากกรณี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า จากการหารือร่วมผู้ให้บริการ เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ (ยูฮอสเน็ต) ชมรม รพศ.รพท. สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น ฯลฯ ถึงปมการบริหารการเงินการคลัง ล่าสุดนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบให้สปสช. ยกร่างคณะกรรมการผู้ให้บริการภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือที่เรียกว่า Provider Board  นั้น

 

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊กกรณีดังกล่าวว่า  สภาผู้บริโภค ค้าน 'ชลน่าน'  ตั้งบอร์ดผู้ให้บริการ (Provider Board) มากำกับบัตรทอง เพียงฝ่ายเดียว

 

จากกรณีข่าว 'สรุปผลหารือ ‘5 เครือข่ายสถาบันการแพทย์’ ร่วม สปสช. สธ. เดินหน้าตั้ง Provider Board ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการให้บริการ “ชลน่าน” มอบ สปสช. ยกร่างให้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ของสปสช. เสนอเข้าบอร์ดพิจารณา...' นั้น

 

สภาผู้บริโภค ได้ย้ำชัดถึงหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) จะต้องยึดถือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ คือ ประชาชน ซึ่งสะท้อนได้จากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่กำกับคุณภาพและมาตรฐานของบัตรทองในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงท้องถิ่น มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ถึงแม้สัดส่วนประชาชนจะจำกัดและน้อยกว่า แต่ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีในการเฝ้าระวังและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

ดังนั้น สภาผู้บริโภคขอคัดค้านการจัดตั้งบอร์ดผู้ให้บริการที่ไม่ควรจัดตั้งผ่านคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะอาจขัดหลักการและผิดเจตนารมณ์ของระบบสิทธิบัตรทอง และอาจทำให้ระบบการรักษาสุขภาพดังกล่าวถูกภาครัฐกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่มีเสียงของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพ

 

ทั้งนี้ หากต้องการเดินหน้าจัดตั้งบอร์ดผู้ให้บริการจะต้องจัดตั้งบอร์ดผู้รับบริการ หรือ Consumer Board ที่เป็นของภาคประชาชนด้วย โดยจะต้องจัดตั้งผ่านกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมกำกับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพของประเทศไทย