ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพชรบูรณ์ 1 ใน 8 จังหวัดสานต่อ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เดินหน้าเตรียมพร้อมทั้งการบริการ  การลงทะเบียนผู้รับบริการ Health ID ตั้งจุดทั้งใน รพ.และนอกพื้นที่ ช่วยเข้าถึงง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเดินหน้าเชิญชวนเอกชน ร้านยา คลินิกเข้าร่วมเพิ่มเติม

ผ่านพ้นไปแล้วกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เฟสแรกนำร่อง 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา  โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามปัญหา พร้อมทั้งให้พื้นที่ประเมินปัญหาอุปสรรคตั้งแต่เปิดโครงการ เบื้องต้นพบปัญหาติดขัดเล็กน้อย เรื่องการลงทะเบียน Health ID ของประชาชน ทำให้ประชาชนที่มารับบริการ เมื่อมาถึง รพ. ทำให้ล่าช้าบ้าง กระทั่ง นพ.ชลน่าน เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขโดยด่วน  เพื่อสานต่อเฟสสองในเดือนมี.ค. 2567  อีก 8 จังหวัด ก่อนจะขยายทั่วประเทศในปีนี้

"เพชรบูรณ์" พร้อมแล้วสานต่อเฟสสอง

โดยแผนการดำเนินการโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสสอง ที่จะเริ่มในเดือนมี.ค.นี้  8 จังหวัด ได้แก่  เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา ล่าสุดเมื่อวันที่ 11-12 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา  นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ พร้อมสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อร่วมการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่สถานพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านยาต่างๆ ที่จะเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสสอง  ซึ่งจัดโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาวิชาชีพต่างๆ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์  พร้อมทั้งยังลงพื้นที่เยี่ยมคลินิกทันตกรรม ร้านยาในจ.เพชรบูรณ์

นพ.วิชาญ คิดเห็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์  ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมฯ ว่า หลังจาก จ.เพชรบูรณ์ ได้รับนโยบายก็ดำเนินการเตรียมพร้อมตลอด เริ่มจากการทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายนี้ก่อน แน่นอนว่า ไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนไปรักษาทุกที่ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือ การรักษาใกล้บ้านใกล้ใจ หากเป็นไข้หวัด ป่วยเล็กน้อยให้รักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) แต่หากอาการหนักก็จะไปรักษารพ.ระดับสูงขึ้น ซึ่งยังคงปฏิบัติตามเดิม

ส่วนโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ จะรองรับกรณีหากเจ็บไข้ได้ป่วย และจำเป็นต้องรักษาในพื้นที่ที่ไม่ได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ณ ที่นั่น เพื่อให้เข้าถึงการบริการ เป็นการยกระดับความมั่นคงให้ผู้ป่วยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หน่วยบริการที่ให้การรักษาจะได้รับจากสปสช. ที่สำคัญไม่ต้องมีใบส่งตัวอีกต่อไป เพราะสามารถรู้ข้อมูลได้จากระบบคลาวด์ ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์จากประชาชนแน่นอน

“จ.เพชรบูรณ์ เตรียมพร้อมแล้วไม่ต่ำกว่า 80%  อย่างการเชื่อมต่อฐานข้อมูล รวมไปถึงการเชิญชวนประชาชนมายืนยันตัวตน เพราะการจะนำข้อมูลเวชระเบียน ประวัติคนไข้เข้าสู่คลาวด์นั้น จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตก่อน ซึ่งเดิม 2 เดือนก่อนหน้านี้มีประชาชนมาลงทะเบียนไม่ถึง 2% แต่ตอนนี้อยู่ที่เกือบ 40% แล้ว และจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย เรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องนี้หากสำเร็จ ไม่ใช่แค่หยิบยื่นโอกาสให้ประชาชนได้รักษาทุกที่  แต่ยังเป็นการยกระดับสาธารณสุขไทย ให้เป็นดิจิทัลทรานฟอเมชันอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนมั่นใจว่า ไม่ว่าจะเจ็บป่วยที่ไหนของประเทศไทย จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที” นพ.สสจ.เพชรบูรณ์กล่าว

เมื่อถามว่าเฟสแรกจะพบปัญหาการลงทะเบียนผู้มารับบริการ หรือ Health ID ว่า มีปัญหาคอขวดทำให้ช้า 20% ซึ่งต่อมามีการปรับแก้ไข ในส่วนของจ.เพชรบูรณ์ เตรียมพร้อมเรื่องนี้อย่างไร นพ.วิชาญ กล่าวว่า  เรื่องนี้ได้กำชับหน่วยบริการในเรื่องการลงทะเบียน Health ID  ซึ่งจะแยกต่างหาก ที่สำคัญไม่ได้มุ่งเน้นให้ลงทะเบียนเฉพาะหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลเท่านั้น แต่มีการลงพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากท่านนายอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ผอ.รพ.ต่างๆ ลงไปตามพื้นที่ โรงเรียน ชุมชนต่างๆ อีกทั้ง ยังสื่อสารว่า เมื่อประชาชนมาลงทะเบียนจะได้ประโยชน์อะไร ที่สำคัญข้อมูลมีความปลอดภัย มีระบบป้องกันอย่างดี

“ในการประชุมครั้งนี้ สปสช.เชิญผู้ประกอบการมาทำความเข้าใจว่า การเข้าสู่ระบบต้องทำอะไรอย่างไร คลินิกเอกชนจะมีข้อจำกัดอะไร ชาวบ้านมีปัญหาอะไรหรือไม่ หรือเรื่องของการเชื่อมข้อมูลข้ามเครือข่าย เราสามารถเชื่อมถึงกันได้อยู่แล้ว แต่จะได้มากน้อยแค่ไหน เราเน้นว่าต้องเชื่อมข้อมูลโดยการมีชั้นของความปลอดภัยด้วย กลุ่มที่ต้องรู้เท่านั้นถึงจะเข้าถึงข้อมูลได้ นอกจากนี้ ในเรื่อง Health Rider จากเฟสแรกได้รับการตอบรับดี ทางเพชรบูรณ์ก็มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้เพื่อเดินหน้าด้วยเช่นกัน” นพ.สสจ.เพชรบูรณ์กล่าว

สำคัญสุดเข้าร่วมโครงการ ไม่ใช่เพราะเงิน แต่อยากช่วยเหลือประชาชน

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ กล่าวถึงการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่เฟสสอง ว่า  ต้องชื่นชม สธ. เตรียมพร้อมมาก อย่างเพชรบูรณ์ก็เตรียมพร้อมเป็นอย่างดี  อย่างคลินิกทันตกรรมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม เดิมต้องไปรอ รพ. ตอนนี้สามารถมาใช้ที่นี่ได้ เหมือนคลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ ต้องไปรอเป็นชั่วโมงกว่าจะรอหมอตรวจ นี่สามารถมาเจาะเลือดที่คลินิกแล็บได้ เป็นนวัตกรรมที่ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้ร้านยา คลินิก รพ.เอกชนเข้าร่วมโครงการ 30 บาทฯมากขึ้น นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า  สปสช. ไม่ได้มีปัญญาไปเที่ยวชวนให้เข้าร่วมได้มากนัก แต่ถ้าสภาวิชาชีพต่างๆ ช่วยกันชวน มีความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็มาช่วยติดตามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้ สปสช. และ สธ.รีบแก้ปัญหา เรียกว่าต้องทำงานร่วมกันทั้งหมด

“สำคัญที่สุด คือ ต้องทำให้คลินิก ร้านยา ภาคเอกชนเข้าใจว่าที่เข้ามาร่วม ไม่ได้เข้ามาร่วมเพราะอยากเอาเงิน สปสช.อย่างเดียว เงินต้องมี แต่เข้ามาร่วมเพราะจะช่วยเหลือประชาชน ให้เข้าถึงบริการได้ดีขึ้น แทนที่จะรอคิวยาว โรคก็ลามไปแล้ว ตรงนี้เรามาช่วยประชาชนร่วมกัน” นพ.สุวิทย์ กล่าว

ร้านยายินดีเข้าร่วม ต้องการช่วยเหลือประชาชน

ภายหลังการประชุมชี้แจงฯ นพ.สุวิทย์ พร้อมคณะจากสปสช. และสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่คลินิก และร้านยาเริ่มจาก ร้านยา “เรือนเภสัชกร”

โดย ภญ.พจนาลัย อนุสรณ์พาณิชกุล ร้านเรือนเภสัชกร ให้ข้อมูลว่า  ทางร้านพร้อมเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสสอบ เพราะมองว่าจะเป็นการเปิดบทบาทของเภสัชกรชุมชนตามเจตนารมณ์ของตนเอง เพราะตั้งแต่เรียนจบมาก็อยากเปิดร้านในชุมชน ทำหน้าที่เภสัชกรชุมชน ล่าสุดยังเข้าร่วมโครงการร้านยาคุณภาพ และโครงการดูแลผู้ป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการของบัตรทอง  ซึ่งที่ผ่านมา มีเคสคนไข้ขี่รถจักรยานเก็บของเก่า พบว่าเป็นแผลที่เท้า ไม่ไปหาหมอ แต่มาขอซื้อยาด้วยเงินแค่ 10 บาทเท่านั้น 

“คนไข้ เป็นคุณลุงขี่จักรยานเก็บของเก่าขาย บอกว่า มีบัตรประชาชน สิทธิอยู่กำแพงเพชร แต่ตัวอยู่ที่เพชรบูรณ์ จะใช้บริการได้หรือไม่ เงินก็มีน้อย ทำให้ไม่อยากไปหาหมอ เราก็บอกว่า ที่ร้านยาอยู่ในโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ใช้แค่บัตรประชาชนไม่ต้องเสียเงิน  คุณลุงยิ้มออกมาและน้ำตาไหล เพราะดีใจได้รักษาไม่ต้องจ่ายเงิน” ภญ.พจนาลัย กล่าว

ด้วยเหตุนี้ ภญ.พจนาลัย จึงบอกว่า เมื่อมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จึงอยากเข้าร่วม เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ และสามารถช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ไม่ต้องไปรอคิวนานๆ และลดภาระลดความแออัดในรพ.ได้

ส่วนอัตราค่าบริการที่สปสช.จัดสรรให้ 180 บาทในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ  ภญ.พจนาลัย บอกว่า เป็นเรื่องการเฉลี่ยมากกว่า ที่สำคัญคือ ใจของเภสัชกรเต็มๆ เพราะบางเคสก็ขาดทุน บางเคสก็กำไร ก็ถัวกันไป ซึ่งเรารู้สึกว่าได้ทำเพื่อประชาชนมากกว่า

คลินิกทันตกรรมเชื่อ 30 บ.รักษาทุกที่แบ่งเบาคนไข้ให้รพ.

ขณะที่คลินิกทันตกรรม  DDC Dental Clinic โดย ทพญ.ประกายดาว ศรีเงิน DDC Dental Clinic ยินดีเข้าร่วมโครงการฯ เช่นกัน พร้อมให้ข้อมูลว่า ทางคลินิกทันตกรรม พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขยายพื้นที่คลินิกเพื่อรองรับ ซึ่งตามปกติเราให้บริการคนไข้บัตรทอง 30 บาทอยู่แล้ว เนื่องจากเขาไป รพ.แล้วไม่มีคิว จึงมาหาเรา จริงๆ ถ้าเราเข้าร่วมโครงการ เราก็อยากช่วยเหลือ เป็นการเพิ่มทางเลือกและบริการให้แก่คนไข้ ซึ่งอัตราค่าบริการเพียงพอหรือไม่ ก็ถือว่า สปสช.ให้เพียงพอในระดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องฟันในเบื้องต้น ส่วนจะมีคนมารับบริการมากขึ้นหรือไม่นั้น ก็อาจจะมีเพิ่มเข้ามา แต่เรามีระบบนัดหมายในการเข้ารับบริการ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการผู้ป่วยได้ดี

อย่างการเข้ารับบริการ สมมติคนไข้เข้ามาวอล์กอิน เราก็จะมีการทำประวัติ แต่ถ้าเรามีคนไข้นัดอยู่ก่อน เราก็จะทำคนไข้นัดก่อน คนไข้วอล์กอินอาจจะได้แค่เข้ารับตรวจเฉยๆ เพื่อวางแผนการรักษา และนัดมาอีกที โดยเราจะชี้แจงว่าต้องทำอะไรบ้าง จุดไหนที่รุนแรงที่สุดที่ต้องทำก่อน ก็ให้ตัดสินใจทำหรือไม่ทำ สิ่งที่ทำได้มีอะไรบ้าง เราวางแผนให้เขา หรืออย่างไหนที่ควรต้องไป รพ. แต่จริงๆ ถ้าสามารถนัดเข้ามาได้ก่อนจะดี ซึ่งมีหลายช่องทาง ทั้งโทร ช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและไลน์

“เชื่อว่าการเข้าร่วมโครงการ 30 บาทฯ  น่าจะช่วยแบ่งเบาคนไข้ส่วนหนึ่งจาก รพ.ได้  สำหรับการเตรียมความพร้อมระบบนั้น อย่างหมอพร้อมหรือการเบิกจ่ายกับ สปสช.ก็เชื่อว่าสามารถเชื่อมโยงได้ ตอนแรกก็ต้องเรียนรู้และพัฒนากันไป ว่าต้องแก้ปัญหาอะไรบ้าง  อย่างการเบิกจ่ายที่สปสช.ระบุว่า จ่ายได้ภายใน 3 วัน ถือว่าเร็วมากกว่าประกันสังคม จริงๆถ้าอยู่ในห้วง 1 เดือนก็ถือว่าโอเคแล้ว  ส่วนเรื่องเดนท์คลาวด์ในการรับส่งข้อมูลคนไข้ เตรียมพร้อมแล้วเช่นกัน  เพียงแต่เรามีอีกโปรแกรมที่ใช้อยู่  ก็ต้องดูว่าจะเชื่อมโยงอย่างไร” ทพญ.ประกายดาว กล่าวทิ้งท้าย

เพชรบูรณ์  1 ใน 8 จังหวัดที่เตรียมพร้อมแล้ว..