ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด สานพลังแก้ปัญหา"ยาเสพติด" ชี้ต้องเปลี่ยนหลักคิด เน้นใช้ชุมชนเป็นฐานหวังเชื่อมโยงภาคประชาสังคม วิชาการ สร้างต้นแบบพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดในชุมชน

วันที่ 19 ก.พ. 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมสัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ว่า สสส. สนับสนุนโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด

สามารถปกป้องลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญทำให้เกิดแกนนำ ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งระดับชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภูมิภาค และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค  2,683 คน จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในพื้นที่ของแกนนำต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหายาเสพติดไปขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ได้

“หลักการสำคัญของการขับเคลื่อนงานป้องกันยาเสพติดในชุมชน ต้องมีฐานมาจาก 1. พลังสังคม คือ กลไกภาคประชาชน ถือเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนงาน จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้มีศักยภาพ และเท่าทันสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 2. พลังวิชาการ คือ เครือข่ายวิชาการ เช่น ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องพัฒนาข้อมูลเชิงวิชาการ พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ขยายผลการทำงาน 3.พลังนโยบาย คือ การนำบทเรียนจากการทำงานของกลไกภาคประชาชน และข้อมูลวิชาการ มาพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ด้านผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาสิ่งเสพติดต้องใช้กลไกและอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพในการติดตามแก้ไขปัญหาที่มีความต่อเนื่อง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนกรอบความคิดของชุมชนที่มีต่อสิ่งเสพติด ซึ่งโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ สนับสนุนโดย สสส. มีเป้าหมายการทำงานคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีกลไกการทำงานคือ

1. ระบบความสัมพันธ์ที่ดี 2. ใช้ความเข้าใจ เปิดใจการการพูดคุย 3. เป็นการจัดการเชิงบวก4.พื้นที่การเรียนรู้ที่พัฒนาคนควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนในรูปแบบที่สร้างสรรค์ การออกแบบเพื่อยกระดับการเรียนรู้ร่วม ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาชุดความรู้จากการถอดบทเรียนการทำงานกับชุมชน เพื่อนำไปใช้ขยายพื้นที่ทำงานทั่วประเทศ ตลอดจนการขยายเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์

ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวในบางช่วงว่า ไม่มีใครเกิดมาเพื่ออยากเป็นนักโทษ แต่เกิดจากการเจียระไนที่ผิดพลาดจากสังคมต่างหาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพ่อแม่ของผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาครัฐทั้งระบบราชการและฝ่ายการเมืองที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนโยบายสาธารณะด้วยเช่นกัน เพราะจากครอบครัวไทยประมาณ 22 ล้านครอบครัว จะมีเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถดูแลลูกได้ด้วยกำลังของครอบครัวตนเอง แต่อีกจำนวนมหาศาลไม่สามารถทำได้

และหากประเทศใดปล่อยให้ประชาชนที่ดูแลลูกตนเองไม่ได้แล้วต้องมาลุ้นกับโชคดี-โชคร้าย ประเทศนั้นก็ไม่ต้องมีรัฐบาล ไม่ต้องมีพรรคการเมือง ไม่ต้องมีข้าราชการ เมื่อประชาชนจ่ายภาษีไปแล้วย่อมคาดหวังว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตจะได้รับการดูแล รัฐต้องมีระบบหนุนเสริม Empower ให้พ่อแม่ และสำหรับกระบวนการของบ้านกาญจนาฯ ที่กำหนดให้เยาวชนต้องเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวของตนเอง ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาจนถึงวันสุดท้ายก่อนถูกปล่อยตัว และตนกับเจ้าหน้าที่จะอ่านทั้งหมด หลายเรื่องน่าตกใจและน่าคิดว่า ประเทศเรายังมีรัฐบาลหรือมีหน่วยงานอยู่หรือไม่...

โดยจากสถิติของบันทึกที่เด็กบ้านกาญจนาฯ เขียนไว้ พบว่า เยาวชนที่เข้าร่วมกลุ่มแก๊งไปก่ออาชญากรรม ส่วนใหญ่จุดเริ่มต้นมักมาจากการหลุดออกจากระบบการศึกษา มีน้อยคนที่เป็นสมาชิกแก๊งด้วยพร้อมกับยังเรียนอยู่ โดยพบว่า ในชั้น ม.2 เทอมที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องออกจากโรงเรียนมากที่สุด "เมื่อถามว่าทำไมถึงถูกให้ออกจากโรงเรียน เยาวชนตอบว่าเพราะเรียนไม่เก่ง สรุปแล้วประเทศนี้ต้องการแต่แพทย์เท่านั้นหรือ แล้วถ้าไม่มีคนทำเตียงคนไข้ให้ แพทย์จะทำงานได้หรือไม่"

...หรือเยาวชนคนหนึ่งเขียนเล่าว่า ไม่สามารถรับสภาพที่บ้านได้ เดินเข้าบ้านทีไรพ่อก็จะเอาแต่พูดเรื่องความสำเร็จของตัวพ่อเอง พูดซ้ำๆ ซากๆ บอกว่ากว่าจะรวยขนาดนี้พ่อต้องผ่านอะไรมาบ้าง และคอยบอกว่าลูกทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ จนลูกไม่กล้าอยู่ใกล้พ่อ ส่วนเยาวชนอีกคนเขียนล่าว่า เข้าบ้านเจอพ่อกับแม่ทะเลาะกันทุกวัน จึงออกจากบ้านไป และจากที่คิดว่าไปไม่นาน แต่ออกจากบ้านแล้วกลับเจอเยาวชนที่มีชะตากรรมเดียวกันจำนวนมาก มีแม้กระทั่งที่เขียนว่า ตอนลั่นไกครั้งแรกยังไม่มีคนตาย แต่เพื่อนในแก๊งชื่นชม ดังนั้นการลั่นไกครั้งที่สองจะทำให้ผิดหวังไม่ได้

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ในอดีตแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเป็นลักษณะ “การใช้อำนาจบังคับ” กล่าวคือ ผู้มีอำนาจทางกฎหมายในการสั่งการ ตรวจเจอแล้วจับ ขณะที่ชุมชนมองว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องปัจเจก ที่หากจะแก้ไขต้องแก้ที่บุคคล หรือเรียกว่า “ตัวใครตัวมัน” ขณะที่แนวทางการทำงานของ สสส. ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการปัญหายาเสพติดที่รุนแรงขึ้น โดยให้ความสำคัญการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ให้ทุกคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีต้นแบบพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดที่เห็นภาพชัดเจนคือ ที่สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่ใช้ศิลปะในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือเรียกว่า “ศิลปะสื่อสุข” สามารถป้องกันเด็กได้ 40 คน ป้องกันกลุ่มเสี่ยงได้ 30 คน และเปลี่ยนจากผู้เสพให้เลิกได้ 6 คน

“การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างหลายหลาย แต่มีหลักการสำคัญคือ มีพื้นที่ตรงกลาง เน้นรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา มอบโอกาส และสร้างความเข้าใจ มีกลไกที่ช่วยประสาน เชื่อมโยงภายในและภายนอกที่เหมาะสม สิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการฯ สำเร็จคือ การเปิดโอกาสให้ชุมชนดำเนินการตามศักยภาพของตัวเอง ทำให้ชุมชนมีอิสระในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.สมคิด กล่าว