ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน”  วางแนวทางดึงคนเรียน “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” เพิ่ม! หลังที่ผ่านมาคนเรียนน้อย ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจา ก.พ. ขอนับอายุงานตั้งแต่เรียนเพื่อไปปฏิบัติงานหน่วยปฐมภูมิ พร้อมจัดสรรงบสอดคล้องกับเนื้องาน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย ว่า จากมติครม.เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว เป็นการผลิตแพทย์ที่เรียกว่า ทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา หรือ 9 หมอ ลงไปในหน่วยบริการปฐมภูมิ  ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์  ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข  โดยใช้งบฯ 37,234.48 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เมื่อผลิตครบจะมีคนเข้าสู่ระบบราว 6.2 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าวถามกรณีจะสร้างแรงจูงใจดึงคนมาเรียนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือบุคลกรที่ทำงานในทีมหมอครอบครัวอย่างไร เพราะที่ผ่านมาคนเรียนน้อย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้เราให้ความสำคัญ ได้วางแนวทางเพื่อรองรับให้กับแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีหลายแนวทาง ยกตัวอย่าง เมื่อเร็วๆนี้ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ปรับแก้หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดคล้อง รวมถึงการเพิ่มเงินค่าตอบแทนพิเศษ หรือ พ.ต.ส. จาก 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “ชลน่าน” เผยครม.เห็นชอบผลิตแพทย์ปฐมภูมิ พร้อมเปิดวิชาชีพอื่น เรียนต่อ -ผลิตแล้วอยู่รพ.สต.ถ่ายโอนได้)

เสนอ ก.พ. นับอายุงานตั้งแต่เรียน “หมอครอบครัว”  

“สธ.กำลังเสนอเรื่องอายุงาน อย่างหากเรียนเพื่อไปปฏิบัติงานหน่วยบริการปฐมภูมิจริง เราจะทำความตกลงกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ว่า จะเริ่มนับอายุงานตั้งแต่เริ่มเรียน ขณะนี้กำลังเจรจาอยู่ แต่เวลาจ่ายค่าตอบแทนไม่ได้จ่ายขณะเรียน  ต้องทำงานก่อน แต่นับอายุงานย้อนหลังให้ ซึ่งเป็นสวัสดิภาพ สวัสดิการต่างๆได้ ที่สำคัญคือการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับเนื้องาน เช่น สามารถจัดเม็ดเงินลงไปลักษณะเหมาจ่ายรายหัวแบบแยกเรื่องของบริการผู้ป่วยนอก หรือส่งเสริมสุขภาพเฉพาะปฐมภูมิได้หรือไม่ นี่เป็นข้อเสนอที่กำลังหารือกันอยู่” นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าสธ.ดูแลวิชาชีพอื่นๆด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราดูทุกกลุ่มตามภาระงาน อันไหนจำเป็นเราก็เติมเต็มเข้าไป