ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ชลน่าน" เผย ครม.เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์-ทีมสุขภาพปฐมภูมิ ระยะ 10 ปี ใช้งบกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 3 พันกว่าล้านบาท เน้นผลิตบุคลากร 9 ประเภท ระบุ "แพทย์" เรียนจบ 6 ปี ให้ต่อ "เวชศาสตร์ครอบครัว" ทันที ก่อนใช้ทุนในหน่วยบริการปฐมภูมิ

 

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า  ครม.มีเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย และอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่ สธ.เสนอ ซึ่งตรงนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง 10 ปีที่เราขออนุมัติ ครม.ไว้ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก จึงต้องเข้า ครม.ให้มีมติ โดยลักษณะโครงการเป็นการผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อไปให้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิ หมายถึงการบริการในพื้นฐานชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริการปฐมภูมิและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ลักษณะการผลิต เราจะผลิตบุคลากร 9 ประเภท ระยะ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ถ้าจบโครงการจะมีบุคลากรอยู่ในโครงการนี้ 6.2 หมื่นคน เม็ดเงินที่ใช้ 3.7 หมื่นล้านบาทเศษ เฉลี่ยปีละ 3 พันกว่าล้านบาท โดยบุคลากร 9 ประเภทอย่างแพทย์เราเน้นผลิตแพทย์เพื่อให้ไปอยู่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ ฉะนั้น เมื่อจบแพทยศาสตรบัณฑิตจึงต้องไปต่อยอดเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแล้วกลับไปอยู่ในชุมชน , ทันตแพทย์ เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย พยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักวิชาการต่างๆ มี 9 สาขาวิชาชีพ ก็เป็นแนวทางที่เราต้องการยกระดับการบริการปฐมภูมิให้ชัดเจนเด่นชัดขึ้น

ถามว่าแพทย์ที่จบจากโครงการนี้ยังต้องไปใช้ทุนก่อนหรือไม่ หรือส่งไปเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวได้เลย  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ลักษณะการผลิตต้องเรียนแพทยศาสตร์ 6 ปี เรามุ่งหวังว่าแพทย์ที่เราผลิตจะต้องกลับไปทำงานในพื้นที่ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เพราะฉะนั้นเราจะวางแนวทางตั้งแต่ระบบการคัดเลือก ก็คัดเลือกคนมาจากพื้นที่ หรือใช้กลไกการเรียนโดยเอาบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่นั้นมาต่อยอด เช่น พยาบาลที่จบปริญญาตรีแล้ว เป็นเส้นทางการผลิตแพทย์แบบใหม่ เป็น New Track มาเรียนต่ออีก 5 ปี ระบบการคัดเลือกตรงนี้จะบ่งชี้ว่าต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ สัญญาที่เขียนก็รองรับด้วยว่าต้องไปอยู่ในพื้นที่

 

"ระหว่างที่ฝึกเราเน้นความรู้ความสามารถนอกจากหลักสูตรแกนกลางของแพทยศาสตร์ทั่วไปแล้ว เราเน้นเรื่องของเวชศาสตร์ชุมชน เน้นหนักเลย ให้ฝึกปฏิบัติตั้งแต่ระดับ รพ.สต. รพ.ชุมชนต่างๆ เพื่อเติมความเข้มข้นให้ได้ผูกพันกับมิติชุมชน เวลาจบมาแล้ว 6 ปี ยังไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ เพราะว่างานบริการปฐมภูมิกำหนดให้เป็นแพทย์ที่ได้รับอนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตร เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ฉะนั้นต้องไปต่อยอด ถ้าอนุมัติบัตรก็ไปรับการฝึกอบรมต่อแล้วสอบให้ได้ภายใน 1 ปีได้ ถ้าวุฒิบัตรก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทางอีก 3 ปี ก็จะกลับมาทำงานในพื้นที่ถือเป็นการใช้ทุน" นพ.ชลน่านกล่าว

 

ถามว่าพอจบเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแล้วจะต้องไปประจำใน รพ.สต.หรือ รพ.ชุมชน  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนใหญ่เราจะใช้ว่า หน่วยบริการปฐมภูมิ คำว่าหน่วยบริการปฐมภูมิมันไม่ใช่ รพ. โดย รพ.จะเป็นหน่วยบริการระดับทุติยภูมิ แต่พื้นที่ใน รพ.ก็อาจจะมีหน่วยบริการปฐมภูมิดูแลอยู่ในชุมชนก็ได้ อยู่ใน รพ.สต.ก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะไม่มีปัญหาในพื้นที่ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยังท้องถิ่นแล้วใช่หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่เกี่ยว ไม่ว่าอยู่สังกัดไหน การบริการปฐมภูมิต้องเป็นไปตามตีวบทกฎหมายที่กำหนดไว้และรูปแบบที่เราจัดไว้ 

เมื่อถามย้ำว่าจำเป็นที่จบมาแล้วต้องอยู่ใน รพ.สต.สังกัด สธ.หรือไม่ หรือสามารถอยู่ในสังกัด อบจ.ได้  นพ.ชลน่านกล่าวว่า สามารถไปอยู่ได้ทุกแห่ง เราไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาเป็นของ สธ. โดย สธ.เป็นผู้ผลิตให้ จะไปอยู่หน่วยบริการปฐมภูมิตรงไหนก็ได้