ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอประกิต" ชี้กระแส "ยาสูบลดอันตราย" เกิดจากโฆษณาชวนเชื่อบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ชี้เครือข่ายล็อบบี้ยิสต์หวังล้มกฎหมายห้ามขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" ห่วง "เด็ก-เยาวชน" ตกเป็นเหยื่อการตลาด 

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีกระแส "ยาสูบลดอันตราย" (Tobacco Harm Reduction) ว่า กระแสนี้เกิดจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก โฆษณาชวนเชื่อว่า การสูบบุหรี่ชนิดเผาไหม้มีอันตรายมาก ควรที่จะเลิกสูบ ถ้าเลิกไม่ได้หรือยังอยากสูบต่อไป ให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าของบริษัทฉันแทนเพื่อลดอันตราย และเสนอให้ใช้นโยบายยาสูบลดอันตราย โดยจะพูดเพียงแต่ว่า คนที่สูบบุหรี่มวน หากเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาก ๆ จะเป็นการลดอันตรายในระดับประชากร เพราะบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบชนิดใหม่ ๆ อันตรายน้อยกว่า ทั้งที่จริงแล้วบริษัทยังขายบุหรี่มวนเป็นหลัก และขัดขวางมาตรการที่จะทำให้คนใช้บุหรี่ชนิดเผาไหม้น้อยลง เช่น มาตรการห้ามเติมสารเมนทอลในบุหรี่มวน เพื่อลดความเย้ายวนการเกิดนักสูบหน้าใหม่และให้คนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วเลิกสูบง่ายขึ้น ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งไทย ไม่สามารถออกกฏหมายนี้ได้ แม้จะพยายามมานับสิบปี จากการคัดค้านของบริษัทบุหรี่

"ไม่อยากให้ประชาชนหลงเชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นยาสูบลดอันตราย เพราะในความเป็นจริงประมาณครึ่งหนึ่งหรือในบางประเทศมากกว่าครึ่งของคนที่เปลี่ยนจากสูบบุหรี่มวนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ยังคงสูบบุหรี่มวนไปพร้อมกันด้วย ยิ่งมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าการสูบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อรวมกับงานวิจัยที่พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่มวนในการใช้โดยผู้สูบบุหรี่เองแล้ว ผลต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว ในภาพรวมจึงไม่ชัดเจนว่ามีประโยชน์จริง อย่างที่บริษัทบุหรี่และเครือข่ายกล่าวอ้าง" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า นอกจากพยายามชี้ชวนให้สังคมโลก ยอมรับบุหรี่ไฟฟ้า ว่าเป็นยาสูบลดอันตราย แต่สิ่งที่บริษัทบุหรี่และแนวร่วมไม่ได้กล่าวถึงหรือไม่สนใจเลย คือ ผลของบุหรี่ไฟฟ้าในคนที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ถูกล่อลวงให้เข้ามาสูบและเสพติดในระดับระบาดรุนแรง อย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทย ที่สื่ออังกฤษเรียกว่า เป็นหายนะทางการสาธารณสุข (Public health disaster) และที่นิตยสาร TIME เรียกว่า เป็นวิกฤตด้านการสาธารณสุข (Public health crisis) ที่อันตรายระยะสั้นของบุหรี่ไฟฟ้าทยอยปรากฏออกมาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และอันตรายระยะยาวยังไม่มีใครรู้ ที่ร้ายคือ บริษัทบุหรี่ไม่เพียงแต่ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบเรื่องที่บุหรี่ไฟฟ้าระบาดในเด็กและเยาวชน แต่กลับทำการตลาดและทำรูปลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้า ที่พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน และให้ข้อมูลที่เป็นบิดเบือน

"ที่น่าห่วงคือ เครือข่ายล็อบบี้ยิสต์บุหรี่ไฟฟ้า พยายามเสนอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และนำนโยบายยาสูบลดอันตรายมาใช้อย่างอังกฤษและนิวซีแลนด์ รวมถึงอิทธิพลของบริษัทบุหรี่ส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อปลดล็อกการห้ามขายบุหรี่ถึง 2 ชุดในสภาชุดที่แล้ว มีชุดหนึ่งที่แนะนำให้รัฐบาลนำนโยบายยาสูบลดอันตรายมาใช้ ซึ่งสภาและรัฐบาลชุดที่แล้วเพียงแต่รับทราบ ขณะที่สภาชุดปัจจุบัน มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากฏหมายบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย มีกรรมาธิการถึง 35 คน มีล็อบบี้ยิสต์บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการแต่งตั้ง 2 คน และผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมาธิการส่วนใหญ่มีท่าทีตรงกับล็อบบี้ยิสต์ที่ต้องการให้รับนโยบายยาสูบลดอันตรายด้วยการยกเลิกกฏหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ดี เพราะนักวิชาการที่เป็นกลาง รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) มีความเห็นว่า การตัดสินใจกำหนดนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า จะพิจารณาเฉพาะประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้าต่อคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วเท่านั้นไม่ได้ ซึ่งประโยชน์ก็ยังไม่ชัดเจน แต่จะต้องชั่งน้ำหนักกับผลเสียที่บุหรี่ไฟฟ้าจะมีต่อคนไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เข้ามาสูบและเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นอันตรายต่อสมองที่กำลังพัฒนา ทำให้เสียการเรียน รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่มวนและใช้ยาเสพติดชนิดอื่น ซึ่งรัฐบาลประเทศส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ผลเสียของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเด็กและเยาวชน มีมากกว่าผลดีที่อาจจะมีต่อคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว สะท้อนเป็นมติในที่ประชุมภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 5-10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประเทศปานามา ที่ไม่ยอมให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณายาสูบลดอันตรายตามที่ภาคีบางประเทศเสนอ จากการวิ่งเต้นของบริษัทบุหรี่ผ่านรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ที่มาประเมินความพร้อมของการควบคุมยาสูบของประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 แนะนำว่า ประเทศไทยควรที่จะคงนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป ซึ่งจะจัดการได้ง่ายกว่าในการควบคุมการระบาด และต้องมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด มีระบบการเฝ้าระวังการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่ทันสถานการณ์ 

"สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองและครู 5,582 รายทั่วประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า 91.5% หรือ 9 ใน 10 สนับสนุนให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า 93% สนับสนุนให้เร่งปราบปรามแหล่งขายบุหรี่ไฟฟ้า และ 95.4% ให้เร่งรัดให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน แต่ดูเหมือน ส.ส.หลายท่านจะไม่รู้หรือไม่สนใจความคิดเห็นจากผลการสำรวจ ดังนั้น สังคมจึงต้องช่วยกันจับตาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่จะรับรายงานของคณะวิสามัญที่สรุปแล้วมาพิจารณาว่า จะยืนอยู่ฝ่ายคุ้มครองสุขภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชนไทย หรือจะยอมรับนโยบายยาสูบลดอันตรายตามที่ล็อบบี้ยิสต์บริษัทบุหรี่วิ่งเต้น" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง