ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะวิธีสังเกต "ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง" โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยในเด็ก ผิวแห้ง คัน อาจพบคนในครอบครัวหรือตนเองเป็นโรคภูมิแพ้หรือเป็นโรคหอบหืด ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ที่ผิวหนัง  

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น มีลักษณะผิวที่แห้งผื่นที่พบขึ้นตามร่างกายจะแตกต่างกันออกไปตามวัย และมีอาการคัน ความรุนแรงของอาการจะไม่เท่ากันในผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งอาการของโรคนี้แบ่งออกได้ 3 ช่วงวัย ได้แก่ 

  • วัยทารก เริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 2 – 3 เดือน ผื่นมักขึ้นบริเวณใบหน้า แก้ม ศอก เข่าด้านนอกของแขนและขา ข้อมือ ข้อเท้า วัยเด็กโต 
  • หลังอายุ 2 ปี ผื่นมักจะขึ้นบริเวณคอ ข้อพับแขนและขาทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยมักมีอาการคัน และเกาจนผิวหนังหนาตัวขึ้น มีขุย สีคล้ำ 
  • วัยผู้ใหญ่ ผื่นจะเหมือนในวัยเด็กโต บางคนอาการหายไปเองหรือมีผื่นน้อยลง 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อโตขึ้นอาการมักจะดีขึ้น หรือหายไปได้เอง ผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน

พญ.นิอร บุญเผื่อน นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ควรไปพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ถามอาการ ตรวจร่างกายและให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยการรักษาหลักคือ การทาสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังเป็นประจำ ควบคู่กับการรักษาผิวหนังบริเวณที่มีการอักเสบโดยใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นยาที่ช่วยลดการอักเสบ ควรทาเฉพาะบริเวณผื่นต่อเนื่องกันจนหายสนิท และเมื่อผื่นหายแล้วควรหยุดยา หรือยาทาลดการอักเสบกลุ่มที่ไม่มีสเตียรอยด์ เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยปรับระบบภูมิคุ้มกันลดความไวต่อการกระตุ้น ยาทั้ง 2 ชนิด ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนัง ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ที่ผิวหนัง และหรือเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์หากใช้ไม่ถูกต้องหรือซื้อใช้เอง

"การดูแลไม่ให้โรคเกิดความรุนแรงมากขึ้นหรือ เกิดภาวะแทรกซ้อนนั้น ควรดูแลผิวให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้โรคกำเริบ เช่น  การอาบน้ำอุ่น การใช้สบู่ก้อน การอาบน้ำเป็นเวลานาน ๆ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอมหรือสารที่มีโอกาสทำเกิดผื่นแพ้สัมผัสหรือระคายเคือง รวมถึงควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการเกา ทายา หรือรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด สังเกตอาการและมาพบแพทย์ตามนัด" พญ.นิอร กล่าว

การป้องกันไม่ให้ผื่นกำเริบ คือ การดูแลผิวให้ชุ่มชื้นและแข็งแรง หาสาเหตุของปัจจัยกระตุ้น หากมีปัจจัยที่สงสัย และหลีกเลี่ยงปัจจัยนั้น ไม่อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน หรือหนาวเกินไป ในรายที่เป็นรุนแรงมากปัจจุบันมีการรักษาอีกหลายวิธี เช่น การรับประทานยากดภูมิ การฉายแสงอาทิตย์เทียม และยาฉีดในกลุ่มชีวโมเลกุล เป็นต้น สามารถเข้ามาปรึกษาและรับการรักษาได้ที่สถาบันโรคผิวหนัง