คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการคันๆ เกาๆ หรือมีผื่นแดงขึ้นตามตัวหรือบริเวณต่างๆ ตามร่างกาย ดูเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งพบอาการเหล่านี้ได้ในทุกเพศทุกวัย แต่หลายคนมักมองข้ามและไม่ใส่ใจโรคเหล่านี้มากนัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะรุนแรงหรือเรื้อรังขึ้นได้ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ ชนิด “ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง” หรือ “Atopic Dermatitis” อาจทำให้เสียบุคลิกภาพ เสียสมาธิ สภาพจิตใจแย่ลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่มากก็น้อย
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทุกวันที่ 14 กันยายน ของทุกปี จะเป็น World Atopic Dermatitis Day หรือ วันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังโลก วงการแพทย์จึงอยากรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคที่มีอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นๆหายๆ จากปฏิกิริยาภูมิแพ้และปัจจัยหลายๆอย่างร่วมกัน ทำให้ผิวหนังแห้ง ระคายเคืองง่าย เกิดผื่นแดงคันตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มักพบในเด็ก แต่ก็เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อุบัติการณ์ของโรคนี้ในเด็กไทยพบประมาณร้อยละ 10-20 ส่วนผู้ใหญ่พบน้อยกว่า
ลักษณะอาการของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ป่วย มี 3 แบบ ได้แก่ ผื่นระยะเฉียบพลัน คือมีผื่นบวมแดงมากและคัน มี ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ บางรายอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา ระยะกึ่งเฉียบพลัน คือผื่นและตุ่มแดง คัน มีขุย อาจมีตุ่มน้ำบ้าง แต่ไม่พบน้ำเหลืองไหลซึมบนผื่น และระยะเรื้อรัง คือผื่นจะมีสีไม่แดงมากหรือออกสีน้ำตาล อาจนูนหนา คัน มีขุย และเห็นร่องผิวหนังชัดเจน ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันได้ตามวัยของผู้ป่วย ในวัยทารก มักจะพบผื่นผิวหนังอักเสบบ่อยบริเวณใบหน้า ซอกคอ และด้านนอกของแขนขา เนื่องจากเป็นบริเวณที่ถูไถกับหมอน ผ้าปูที่นอนเพราะคันมาก ส่วนในเด็กวัยเรียนและวัยผู้ใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบจะพบบ่อยบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา และคอ สำหรับในรายที่เป็นมากๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะภูมิแพ้ทางจมูก ตา หรือ หอบหืดร่วมด้วย หรือบางรายอาจพบรอยโรคผิวหนังอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กลากน้ำนม ขอบตาคล้ำและมีรอยย่นใต้ตา ริมฝีปากแห้งเป็นขุย เส้นลายมือชัดลึก ขนคุด ผิวสากเหมือนหนังไก่ ผิวบริเวณหน้าแข้งแตกแห้งเป็นแผ่น เป็นต้น
สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น แพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืด หรือมีโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวก็อาจเป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจซ่อนเร้นอยู่โดยไม่เกิดอาการ นอกจากนี้ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร ไรฝุ่น สารก่อการระคาย หรือสารก่อภูมิแพ้ โดยผิวหนังของผู้ป่วยจะไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งสภาพทางกายภาพ เช่น ภาวะอากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป หรือสารเคมีที่ระคายผิวหนัง รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น แมลง เชื้อโรค เป็นต้น
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ที่ข้อพับแขน
ศ.พญ.กนกวลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “อาการเริ่มแรกของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ประมาณร้อยละ 50 จะพบในเด็กช่วงขวบปีแรก และประมาณร้อยละ 85 จะพบในเด็กช่วง 5 ขวบปีแรก อาการโรคมักเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยอายุเพิ่มขึ้น พบว่าประมาณร้อยละ 40-50 ของผู้ป่วย อาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี เด็กบางคนอาจยังคงมีอาการเรื้อรังต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มมีผื่นภูมิแพ้ในช่วงวัยผู้ใหญ่ การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาศัยจากลักษณะทางคลินิกเป็นส่วนใหญ่ การทดสอบทางผิวหนัง การเจาะเลือดตรวจแอนติบอดี้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ หรือการทดสอบการแพ้อาหาร ไม่มีความจำเป็นสำหรับการวินิจฉัยโรค แต่ในกรณีที่ให้การรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น แพทย์อาจพิจารณาทำการทดสอบเหล่านี้ หรือเลือกการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อหาปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดโรคกำเริบ”
เป้าหมายของการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คือ พยายามควบคุมอาการของโรค ป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ และให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกว่าโรคจะหายไป แนวทางการรักษาได้แก่ การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้อาการกำเริบ การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง เช่น โลชั่น ครีมบำรุงผิว ควรทาหลังอาบน้ำทันที และไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น
การใช้ยาทาลดการอักเสบของผิวหนัง ทาบริเวณผื่นที่มีอาการเห่อแดงอักเสบ เมื่อควบคุมอาการได้ควรลดการใช้ยาหรือหยุดยา ในรายที่ผื่นเป็นมากและเป็นบริเวณกว้าง แพทย์อาจให้ยารับประทาน ในปัจจุบันได้มีการรักษาโดยยาฉีด ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางการรักษาในโรคนี้ โดยแพทย์จะเลือกใช้ในรายที่มีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีทั่วไป ซึ่งควรอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์
ศ.พญ.กนกวลัย กล่าวปิดท้ายว่า “กรณีที่ผู้ป่วยสงสัยว่ามีอาการโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง โรคที่เป็นเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว เช่น การนอน การเรียน การทำงาน ความมั่นใจ และการเข้าสังคม ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังหลายๆ ส่วนของร่างกาย เนื่องจากความอาย ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งหากมาพบแพทย์และทำการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยป้องกันการกำเริบของผื่นได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมสังคมได้อย่างปกติ”
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ที่ข้อพับขา
- 57207 views