ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดพัฒนาระบบยาฯ เห็นชอบแผนปฏิบัติการ 5 ปี  จ่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพครบวงจร เหตุไทยยังนำเข้าวัตถุดิบทำยา ผลิตเองได้แค่ 20 รายการ มีช่องให้พัฒนาอีกมาก ได้ยาราคาถูกลง ส่งออกเพิ่มรายได้

 

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566 - 2570 โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาโดยร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา 2. พัฒนากลไกการเข้าถึงยาถ้วนหน้า ราคายาที่สมเหตุผล ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน 3. พัฒนากลไกสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 4. การจัดการสารสนเทศเพื่อจัดการระบบยาแบบบูรณาการ และเห็นชอบแผนส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบยาและสมุนไพรในประเทศระยะสั้น เช่น สารสกัดฟ้าทะลายโจร เป็นต้น รวมทั้งเร่งพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลภายในปี 2575

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนแผนฯ จะมีการยกร่างกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างครบวงจร ซึ่งจะเป็นกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป้าหมายโดยรวมของกฎหมายคือ จะเป็นลักษณะของส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เนื่องจากเรามองว่าที่ผ่านมาในเรื่องของวัตถุดิบและสารตั้งต้นในการผลิตยา ส่วนใหญ่ประเทศไทยเรานำเข้าจำนวนมาก มีการผลิตวัตถุดิบเองได้ประมาณ 20 รายการเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก จึงต้องพัฒนาในส่วนนี้ จะทำอย่างไรให้ประเทศชาติไม่เสียโอกาส และส่งเสริมให้มีการลงทุน ก็ต้องมีกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีกฎหมายมาก่อน มีแต่การใช้คำสั่งในระดับการประชุมสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงต้องผลักดันให้เป็นกฎหมายออกมาใช้บังคับ ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินการในส่วนนี้ โดยขอให้ส่วนที่รับผิดชอบยุทธศาสตร์ประเทศมาช่วยเป็นที่ปรึกษาด้วย ซึ่งหลังจากมีกฎหมายนี้ออกมาก็จะออกประกาศ กฎกระทรวงในมาตราที่จะใช้ในการส่งเสริมต่างๆ หรือในส่วนของหน่วยปฏิบัติเป็นระเบียบดำเนินการ

 

"เรื่องอุตสาหกรรมยาเราไม่มีข้อติดขัดอะไร แต่เรายังไม่มีกฎหมาย อีกทั้งที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ทำเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่ง สธ.เป็นกระทรวงที่ใช้งบประมาณซื้อเวชภัณฑ์มาก อย่างตอนประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ผมก็บอกให้ตั้งโรงงานวัคซีน เพราะอบ่างบางคณะในมหาวิทยาลัย ลงทุน 700 ล้านทำโรงงานวัคซีน 2 ปีก็ได้ทุนคืน ลักษณะอย่างนี้เราไม่ค่อยได้ทำ เราใช้การซื้อเป็นหลัก เราก็ต้องส่งเสริมให้โรงงานผลิตวัตถุดิบยาเกิดในไทย มีความพร้อม จะได้ใช้ยาถูก ส่งออกนำเข้าได้ประโยชน์ต่อประเทศ เรามองว่าอุตสาหกรรมประเภทนี้มีน้อยมาก ประเทศเราสามารถเพิ่มเติมได้ เป็นหมุดหมายของนายกฯ ที่ลงทุนด้านนี้มีประโยชน์และได้ของถูก" นายสมศักดิ์กล่าว

ถามว่ากฎหมายใหม่นี้จะมีรายละเอียดครอบคลุมไปถึงเรื่องของการควบคุมราคายาเพื่อไม่ให้ยามีราคาแพงงด้วยหรือไม่  นายสมศักดิ์กล่าวว่า จะทำให้ราคายาถูกลง อย่างในช่วงต้นของรัฐบาลมีการประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาบางประเภททำให้ซื้อยาถูกลง 700-800 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายว่าหลังมีกฎหมายจะลดราคายาลงเท่าไร เรายังไม่ได้คาดการณ์ไปถึงขั้นนั้น แต่เรามีแนวทางแผนการดำเนินการ ก็จะต้องดูให้ครบทุกด้าน มีคณะกรรมการที่ทำเบื้องต้นแล้ว อาจจะต้องมีที่ปรึกษาเข้ามาอีก เพราะตนคิดเองทำเองไม่ได้ ต้องใช้งบประมาณและผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินงาน

 

ถามว่ามีการวางกรอบระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายหรือไม่  นายสมศักดิ์กล่าวว่า คณะทำงานจะวางให้ เรายังไม่ได้วางถึงขั้นนั้น เราเพียงมีไอเดียที่คิดตรงกัน ซึ่งทางราชการคิดมาตนก็เห็นด้วยว่าควรทำเรื่องนี้

ถามอีกว่ากฎหมายจะทำให้เกิดการส่งเสริมผลิตยาเพิ่มขึ้นในระดับอุตสาหกรรม นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องเกิดขึ้น แม้กระทั่งสมุนไพร เรามีวัตถุดิบในประเทศเรา แต่ยังไม่เอาวัตถุดิบมาสกัดเป็นสารตั้งต้นในการผลิต ก็ต้องทำขั้นที่สองขั้นที่สามต่อไป เราสนับสนุนทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรในประเทศ เพราะที่ฟังจากรายงานยาสมุนไพรมีประเทศจีน อินเดีย ที่นำหน้าไปเยอะ ของเราเป็นประเทศที่สามารถปลูกสมุนไพรได้มากชนิด ก็สมควรใช้ประโยชน์ ข้อมูลนักธุรกิจที่บอกมา เรามีจุดแข็ง สังคมโลกมองจับตาประเทศไทยว่าเรามีของดีเยอะ แต่เราจะหยิบยกขึ้นมาอย่างไรก็ต้องช่วยกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม นายสมศักดิ์ ได้มอบรางวัลแก่สถาบันการศึกษาตัวอย่างด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาของบุคลากรสุขภาพ 5 วิชาชีพ ได้มีการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งสถาบันการศึกษา ที่ได้รับรางวัล คือ วิชาชีพทันตแพทย์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิชาชีพเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิชาชีพสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ วิชาชีพพยาบาล สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย และ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

เรื่องที่เกี่ยวข้อง