ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.รับหลักการผลศึกษา 8 ข้อ “หมอพรหมินทร์“ แต่ไม่ฟันชี้ขาด  ส่งสภาถกเคาะ “ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ 253 –  อนุญาตขายใกล้สถานศึกษา ตลอดจนวัน -เวลา ขายน้ำเมา ให้กลุ่มธุรกิจทำโฆษณา หนุนกิจกรรมได้ ปรับอำนาจ-ยกเลิกการควบคุมการขายมาตรา 30”

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ 5 ฉบับ อาทิ ประกาศคณะปฏิวัติ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยก่อนหน้านี้มีหลายฉบับที่เสนอเข้าสู่สภา คือ ฉบับที่มีการเสนอโดยนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และฉบับที่เสนอโดยนายเจริญ  เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และฉบับที่เนอโดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม.พรรคก้าวไกล ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอร่างฯ เข้าที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ มีผลทั้งเชิงเศรษฐกิจ และเชิงศีลธรรม จึงมอบหมาย พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปทำประเด็นข้อกฎหมายมา ซึ่งทำมาทั้งหมด 8 ประเด็น ที่สำคัญดังนี้

1. เห็นควรยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 วันที่ 16 พ.ย. 2515 หรือไม่ 

2. ควรอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ โรงแรม หรือสถานบริการที่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษาหรือไม่

3. การอนุญาตให้ขาย หรือการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมที่จัดไว้ในสถานที่ราชการที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมควบคุมโรค เพิ่มเติมจากที่จัดไว้เป็นร้านค้า สโมสร หรือการแสดงดนตรี

4. ผู้มีอำนาจในการกำหนดวัน และเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่ง ปัจจุบัน มีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมตนรี เป็นผู้รักษาการ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะให้เปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่

5. การแก้ไขผู้รักษาการดังกล่าว 

6. กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้โฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำตลาดออนไลน์ รวมทั้งผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ

7. กำหนดรายละเอียดข้อความที่ระบุบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ต้องมีข้อความในลักษณะที่เป็นการเชิญชวนให้บริโภค

8. ยกเลิกการควบคุม วิธีการหรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมาตรา 30 ของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 

ทั้งหมดนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นว่า เนื่องจากมีข้อความคิดเห็น กฎหมายประชาชนสุดโต่งไปอีกมุมหนึ่ง กฎหมายของสส.บางท่าน ก็ส่งเสริมทางเศรษฐกิจเกินไป สุดโต่งคนละด้าน ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้ว จึงถูกนำไปที่วิป และเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาให้ปิดสมัยประชุมในวันที่ 10 เม.ย. นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และถกเถียงอย่างเหมาะสม และให้ตัวแทนประชาชนเป็นคนตัดสินว่า ในมิติต่างๆ นั้น เห็นควรจะเอาฉบับไหนมาเป็นฉบับที่เหมาะสมที่สุด จึงให้สภาฯ เป็นคนไปพิจารณาทั้งหมด โดยไม่ถือว่า กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นกฎหมายที่จะยึดเป็นหลัก

“ กฎหมายนี้ละเอียดอ่อน แต่ละฉบับต่างก็สุดโต่ง แต่มีร่างกฎหมายฉบับที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง ทางกฤษฎีกา ตรวจสอบเพียงเรื่องของรูปแบบกฎหมาย ว่าไม่ซ้ำซ้อน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เวลาจะตัดสินว่าจะเอามุมไหน จะส่งเสริมเศรษฐกิจเต็มที่ เช่น การขายใกล้สถานศึกษาได้หรือไม่ การขายทางออนไลน์อย่างไร ทางเลขารัฐมตนรีก็เสนอ และนำเข้าสู่การพิจารณาประกอบทั้งหมดทุกร่าง โดยให้สภาเป็นผู้พิจารณาและตัดสิน” นายคารม กล่าว