ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.จิตเวชพิษณุโลก เผยผู้ป่วยจิตเวช-ยาเสพติดพบมากขึ้น ขณะที่เขตสุขภาพที่ 2 มีสถานบําบัดยาเสพติดน้อย เดินหน้าบำบัดลดกลับไปเสพซ้ำ ย้ำ! ขาดแคลนพยาบาลหนัก เร่งหาบุคลากรเพิ่ม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมสุขภาพจิต โดยสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต ได้ดำเนินการพัฒนาเครือข่ายเพื่อการสื่อสารสุขภาพจิต เขตสุขภาพที่ 2 เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่าย นักสื่อสารสุขภาพจิต  (MIT : Mental Influence Team) พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 ให้เกิดกลไกการสื่อสารเพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และรูปแบบของการสื่อสารในแขนงต่าง ๆ ถือเป็นการสร้างสังคมนักสื่อสาร นำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายในการสื่อสารสุขภาพจิต

นพ.ภาณุ คูวุฒยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตและการเข้าถึงการบริการ ว่า ปัจจุบันมีการเข้าถึงบริการจิตเวชมากขึ้น ในปี 2566 แบ่งออกเป็น

  • ซึมเศร้าเข้าถึงบริการ 88.01%
  • จิตเภทเข้าถึงบริการต่อเนื่อง 43.31%
  • ออทิสติกเข้าถึงบริการ 56.90%
  • สมาธิสั้นเข้าถึงบริการ 34.52%

ปัญหายาเสพติด จ.พิษณุโลก

ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหายาเสพติดในจังหวัดพิษณุโลก ยังเป็นปัญหาอยู่หรือไม่ นพ.ภาณุ กล่าวว่า   ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต คือ ผู้ป่วย สามารถรักษาได้ อย่างปัญหายาเสพติด เมื่อเสพแล้วก็กระตุ้นวงจรการให้รางวัลของสมอง เป็นร้อยเท่าที่กระตุ้นระบบประสาท โดยเฉพาะยาบ้าที่รุนแรงมาก จำเป็นต้องบำบัดรักษาและป้องกันไม่ให้ไปเสพซ้ำ   

"ปัญหายาเสพติดที่พบมากขึ้นนั้น จริงๆพบมาตลอด เพราะผู้ค้าขายราคาถูก ทราบมาว่าการผลิตตอนนี้ทำได้ครั้งละเยอะ ๆ หาง่าย จึงกลับไปเสพซ้ำได้ง่าย ดังนั้น การบำบัดรักษาเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดผู้เสพซ้ำ ร่วมกับแนวทางอื่นๆ  แต่ปัญหาของเขตสุขภาพที่ 2 คือ มีสถานบําบัดยาเสพติดไม่มาก แม้ตอนนี้จะขยายเพิ่มแล้ว ซึ่งอนาคตคาดว่าจะดีขึ้น"  

เมื่อถามว่าพิษนุโลก ยังขาดแคลนรพ.ที่ดูแลเรื่องจิตเวชหรือไม่ นพ.ภาณุ กล่าวอีกว่า ในเขตสุขภาพที่ 2 มี 5 จังหวัด แต่มีโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก เพียงแห่งเดียว แต่จังหวัดอื่น ๆ ก็มีจิตเวชและยาเสพติดอยู่ด้วย โดยมินิธัญญารักษ์ก็เข้ามามีส่วนช่วย ในลักษณะของโรงพยาบาลชุมชน ดูแลกลุ่มจิตเวชที่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากการรักษาผู้ป่วยจิตเวช และยาเสพติดก็จะมีการแบ่งเป็นกลุ่มอาการต่างๆ อย่างไรก็ตาม  หากสามารถเปิดได้อำเภอละ 1 แห่ง รับได้อย่างน้อย 30 เตียง ก็จะแบ่งเบาภาระ และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

"โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก ในแต่ละวันจะรับผู้ป่วยประมาณ 4-5 เคส มักเป็นผู้ป่วยอาการยุ่งยากซับซ้อน หรือมีอาการรุนแรง เช่น ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น ก่อคดีรุนแรง หรือกลับมาเป็นซ้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่ลงไปเยี่ยมบ้าน ไปยังชุมชน ซึ่งโรงพยาบาลมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญประมาณ 100 คน นอกจากมีจิตแพทย์แล้ว ยังมีนักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชชุมชน"

ส่วนระยะเวลาในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด นพ.ภาณุ กล่าวว่า จะรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 1 เดือน แล้วจึงบำบัดต่อในชุมชนอีก 2-3 เดือน โดยพยาบาลวิชาชีพจะดูแลคนไข้ในวอร์ด ผู้ช่วยพยาบาลหรือนักวิชาการสาธารณสุข จะออกไปบำบัดในชุมชน ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการอบรมในการบำบัดยาเสพติด 

รพ.จิตเวชพิษณุโลก ขาดแคลนพยาบาลหนัก! 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก กล่าวอีกว่า มีการวางแผนที่จะขยายเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มีมากขึ้น แต่มีปัญหาขาดแคลนพยาบาล พยาบาลจบใหม่ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งขาดแคลนมานานมากแล้ว ไม่ใช่แค่รพ.นี้แห่งเดียว หลายแห่งก็ไม่พอ ตอนนี้แก้ปัญหาด้วยการจ้างลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นผู้ช่วยพยาบาล แบ่งเบาภาระงานที่ต้องทำงานอย่างหนัก 

วางแผนขยายเป็น 90 เตียง รองรับผู้ป่วยสุขภาพจิต

"ตอนนี้ต้องการบุคลากรเพิ่ม รวมถึงงบประมาณในการซื้อครุภัณฑ์ อุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก ส่วนสถานที่สามารถดัดแปลงพื้นที่ได้ ปัจจุบันสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 60 เตียง รองรับผู้ป่วยโดยเฉลี่ย 600-700 คนต่อปี อยากขยายเป็น 90 เตียง ซึ่งต้องมีบุคลากรเพิ่มเติมอีกประมาณ 10 คน"

เมื่อถามถึงทีมปฏิบัติการป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก นพ.ภาณุ กล่าวว่า มักจะได้รับแจ้งเหตุจากญาติ จะแจ้งมาที่โรงพยาบาลโดยตรง ถ้าพบผู้ที่มีความคิด ทีมปฏิบัติการป้องกันการฆ่าตัวตาย จะออกไปสถานที่อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังได้สร้างเครือข่ายไว้แล้ว เช่น โรงพยาบาลในเขตนั้น จะมีทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) เพื่อเข้าไปพื้นที่ ประเมิน คัดกรอง และอาจส่งต่อเพื่อเข้ารับการดูแลต่อไป

"ล่าสุดมีเด็กนักเรียน มีแนวโน้มว่าจะกระโดดตึก โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลกก็แจ้งไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ มีการส่งทีม MCATT ประกอบด้วย นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ มาดูแลและส่งต่อเพื่อบำบัดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานเจ้าหน้าที่ โรงเรียน สถานศึกษา ให้ทำแอพลิเคชัน Mental health Check In ตรวจเช็คสุขภาพใจ ใครมีความเสี่ยง จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา หากพบว่า มีความเครียด ความเสี่ยงสูง จะแจ้งโรงพยาบาลมารับตัวไปบำบัด"

ผอ.รพ.จิตเวชพิษณุโลก ทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารต้องมีเทคนิคและกลยุทธ์ จึงเป็นที่มาของการประชุมเชิงปฏิบัติการฯครั้งนี้ โดยสื่อสารให้เกิดความสร้างสรรค์ เป็นการสื่อสารเชิงบวก ที่นักสื่อสารสุขภาพจิตต้องนำความรู้ไปถ่ายทอด และสื่อสารเพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤต เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

กรมสุขภาพจิต ดึงภาคีเครือข่าย - Hfocus ขับเคลี่อนกลไกการสื่อสารท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต

"หมอบุญศิริ" แนะสื่อสารข่าวภาวะวิกฤต ไม่เชื่อข้อมูลง่าย ไม่เผยแพร่ภาพสะเทือนใจ

กรมสุขภาพจิต สร้าง MIT นักสื่อสารสุขภาพจิต ดึง Hfocus ร่วมนักสื่อสารหลายภาคส่วนให้ความรู้เพียบ

"หมอบุรินทร์"ให้ความรู้การสื่อสารภาวะวิกฤต ช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว