ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียฯ ย้ำความสำคัญ ตรวจคัดกรองตั้งแต่ตั้งครรภ์ ประเมินสุขภาพ ความเสี่ยงโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และควรฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ ด้าน สปสช.เผยผู้ป่วยที่รับการรักษาธาลัสซีเมีย ปีละกว่า 1 หมื่นคน ปัจจุบันเบิกได้ทั้งค่าตรวจและค่ายาขับเหล็ก

ปัจจุบันประเทศไทยพบปัญหาการเกิดน้อย ทุกการเกิดจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ นําไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

การดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ สธ.จึงมีนโยบาย แนวทางการควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โดยบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหญิงตั้งครรภ์ให้มีการคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ และสามีที่มาฝากครรภ์ทุกราย จากการตรวจคัดกรองพบว่า หญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจางเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 29.45 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 30.89 ในปี 2566 

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ศ.เกียรติคุณ นพ.สุทัศน์ ฟูเจริญ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า สถานการณ์ผู้เป็นโรคธาลัสซีเมียอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรือประมาณ 6 แสนคน โดยประเทศไทยได้จัดทำโครงการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์มาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางตั้งแต่กำเนิดและเป็นเรื้อรังไปตลอดชีวิต จึงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองตั้งแต่ตั้งครรภ์

"มีข้อมูลว่า คนไทยเป็นพาหะธาลัสซีเมีย 30-40 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มนี้ไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ จึงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ตามที่รณรงค์ฝากครรภ์คุณภาพก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ นอกจากโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียได้ด้วย แต่บางคนที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนแล้ว อาจจะมาฝากครรภ์ช้า เพราะเคยตั้งครรภ์แล้วไม่มีปัญหา ซึ่งจริง ๆ แล้ว ควรรีบมาฝากครรภ์ให้แพทย์ตรวจคัดกรองจะดีที่สุด" ศ.เกียรติคุณ นพ.สุทัศน์ กล่าว

นพ.สุทัศน์ กล่าวด้วยว่า งานสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 25 นี้ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนองานวิจัยที่เป็นประโยชน์ เพื่อควบคุมป้องกันโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินงานเกี่ยวกับโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียมาแล้ว 30 ปี มีองค์ความรู้ งานวิจัย ผลตรวจวินิจฉัยต่าง ๆ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ ในการนำความรู้ไปใช้ในหน่วยบริการ เพื่อควบคุมและป้องกัน ลดโอกาสการเกิดโรคในเด็กแรกเกิด 

เมื่อถามถึงการเข้าถึงการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย นพ.สุทัศน์ เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสามารถเบิกค่ารักษาได้ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ โดยตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์และสามี สำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียจะได้รับการดูแล ได้รับเลือดหรือยาขับเหล็ก ตามความจำเป็น ซึ่งการให้ยาขับเหล็กค่อนข้างได้ผลดี 

สปสช.เผยผู้ป่วยที่รับการรักษาธาลัสซีเมีย ปีละกว่า 1 หมื่นคน 

ด้าน น.ส.พรพจนาจ ขะชาตย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสริมว่า การตรวจคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ทุกสิทธิ โดยพบจำนวนผู้ป่วยที่รับการรักษาธาลัสซีเมีย ปีละกว่า 1 หมื่นคน ซึ่ง สปสช.จะแบ่งการจ่าย สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงตั้งแต่แรกเกิด เช่น ยาขับเหล็ก สำหรับเด็กอายุ 2-6 ปี มีเงื่อนไขการให้ยาขับเหล็กชนิด Deferasirox คือ เป็นผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดพึ่งพาเลือด (Transfusion Dependence) ได้รับ hypertransfusion มามากกว่า 1 ปี หรือได้รับเลือด (Transfusion) มาแล้วมากกว่า 10 ครั้ง รวมทั้งมีผลเลือด Serum Ferritin มากกว่า 1,000 ng/mL ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน 

น.ส.พรพจนาจ กล่าวด้วยว่า การจ่ายค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงหรือชนิดพึ่งพาเลือด (TDT) เป็นการจ่ายเพิ่มเติมให้แก่หน่วยบริการที่จัดบริการให้เลือดและการให้ยาขับเหล็ก ดังนี้

  • จ่ายยาขับเหล็กชนิดรับประทาน คือ ยา Deferasirox ตามข้อบ่งชี้ 
  • จ่ายในอัตราเหมาจ่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการ Hb, Hematocrit ก่อนการให้เลือดทุกครั้ง การให้เลือดทุกชนิด การตรวจ Serum Ferritin 4 ครั้งต่อปี ยาขับเหล็กชนิดฉีด คือ ยา Desferrioxamine (Desferal) และยาขับเหล็กชนิดรับประทาน คือ ยา Deferiporne

"ตอนนี้รอสิทธิประโยชน์ใหม่ กำลังรอเสนอเข้าบอร์ด สปสช. เป็นเรื่อง การคัดกรองพาหะธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ และสามีคู่เสี่ยง ด้วยวิธี Hb Typing และการตรวจ DNA Analysis เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ และลดระยะเวลารอคอยผลการตรวจของสามีเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" น.ส.พรพจนาจ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สธ.เผยคนไทยเป็นพาหะธาลัสซีเมีย 30-40% พบผู้ป่วยราว 6 แสนคน