ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข 11 องค์กร  ร่วม ชมรม รพศ./รพท.  แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพปีงบฯ 67 ก่อนประกาศทางการ  ชี้ขอให้บริหารงบคิดถึงหน่วยบริการ ไม่ใช่เพิ่มสิทธิประโยชน์มากมาย แต่ไม่คำนึงต้นทุน ประชาชนไม่ผิด เป็นสิ่งดีรพ.ยินดีให้บริการ แต่คำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย หากไม่ปรับแก้สุดท้ายต้องไปชุมนุมเรียกร้องเรื่อยๆ  ด้าน “หมออนุกูล” เสนอ 7 ประเด็น ให้สปสช.ไปปรับแก้ ไม่ใช่รับฟังและไม่ทำอะไร

 

นับตั้งแต่เมื่อวันที่  13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 1 เดือนที่ 5 เครือข่ายสถาบันแพทย์  ประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย  ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ,ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ราว 100 คน ร่วมถือป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เพื่อช่วยเหลือกรณีปัญหาบริหารการเงินการคลังของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำให้หน่วยบริการขาดสภาพคล่องนั้น จนนำมาสู่การดำเนินการหาทางออก เบื้องต้นได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านผู้ให้บริการภายใต้บอร์ดสปสช. หรือที่เรียกว่า Provider Board นั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “5 เครือข่ายแพทย์” ไม่ทน! ตบเท้าร้อง “ชลน่าน” แก้ปัญหาขาดทุนจาก สปสช.)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สปสช. จัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567  โดยได้เชิญส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ แน่นอนว่า ทางฝั่งผู้แทน 5 เครือข่ายสถาบันการแพทย์เข้าร่วมด้วยเช่นกัน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข  กล่าวว่า หลายๆอย่างอาจมีการติ แต่เป็นการติเพื่อก่อ โดยก่อนอื่นขอย้อนไป 10 ปี เกี่ยวกับประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด  เช่น ไทม์ไลน์ปีงบประมาณปกติจะเริ่มเดือนตุลาคมและสิ้นสุดกันยายน  แต่เมื่อ 1-2 ปี จะไปสตาร์ที่ไตรมาส 1 ส่วนปีนี้อาจจะอ้างว่าเพราะเปลี่ยนรัฐบาล แต่ก็ล่อไปครึ่งปีแล้ว ซึ่งจริงๆ ควรให้ออกประกาศหลักเกณฑ์ฯ ก่อนปีงบฯถัดไปเช่นในอดีต เพื่อทุกหน่วยงานจะได้เตรียมการทัน ขอให้ดูหน่วยบริการด้วยว่า หน่วยบริการจะเริ่มได้เร็วหรือไม่ อย่างไร

เช่นเดียวกับงบประมาณค่าใช้จ่ายบัตรทอง เมื่อพิจารณา 10 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2557 จาก 155,257.965 บาท เพิ่มเป็น 217,628.9596 บาท ซึ่งสูงขึ้น 40% ขณะที่สภาวะเปลี่ยนแปลงไปตลอด ทั้งเงินเฟ้อ แต่ยังมีสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก แบบนี้หน่วยบริการจะรู้สึกอย่างไร อยากให้คิดถึงตรงนี้ด้วยว่า ใครแบกรับ อยู่ได้จริงหรือไม่ ต้องฝากกรรมการ ฝากหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณา เช่นเดียวกับงบรายหัวบัตรทองเพิ่มเป็น 20% ใน 10 ปี คิดดูว่าค่าแรง เจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล เภสัชกร ยังไม่พูดถึงรพ.ที่ต้องมีเทคโนโลยีสูงๆอีก คลินิกซื้อยาแพงกว่ารพ.เยอะอีก อีกหลายปัจจัย

“ทุกอย่างกระโดดขึ้นหมด จาก 2,800 บาทต่อหัวประชากร เพิ่มเป็นประมาณ 3,400 บาทต่อหัวประชากร แลดูดี หากไม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ ซึ่งจริงๆ ประชาชนไม่ได้ผิด แต่ถามว่า จะทำอย่างไรให้อยู่กันได้ ขอให้คิดถึงผู้ให้บริการด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อ 4 ของกฎหมายหลักประกันฯ จะมีเรื่องคำนึงถึงประชาชน แต่ไม่มีการเขียนเรื่องให้ความเป็นธรรมกับหน่วยบริการอยู่ในนั้นเลยทั้งประกาศ 10 ฉบับก็ไม่มี ” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ต้นทุนสูงขึ้นไม่สอดคล้องงบฯ ปัญหาระเบิดอีก 3-5 ปีแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) จะได้งบจากการให้บริการแบ่งออกเป็น จากกรมบัญชีกลาง 10,800 บาท ได้จากสำนักงานประกันสังคม 12,000 บาท และสปสช. 8,350 บาท ซึ่งสมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี 2558 ซึ่งทราบความเดือดร้อนของรพ. จึงพยายามหางบฯ มาอัดฉีดจำนวน 5 พันล้านบาท  เพื่อแก้ปัญหาให้เป็นฟิกเลท  รวมถึงงบเหมาจ่ายรายหัวตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือดีอาร์จี (DRG)ในช่วงต้นปี ราวๆ 8-9 พันล้านบาท พอมาถึงสิงหาคม-กันยายน ก็เหลือประมาณ 2-3 พันล้านบาท และยังมีงบฯ สำรองอีกประมาณ100 ล้านบาท ตอนหลังเริ่มเปลี่ยนน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ต้นทุนรพ.อยู่ที่ 1 หมื่นกว่าบาท เพราะมีทั้งค่าคน ค่าของ นี่คือสิ่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องฝากทาง สปสช.ว่า ใครแบกรับ

“มีตัวอย่างโรงเรียนแพทย์ แถวกระทรวงการต่างประเทศ แบกรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน หรือ IPD  ประมาณ 500-700  ล้านบาท โรงเรียนแพทย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แบกรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน 1,500-2,000  ล้านบาทต่อปี เป็นการแบกรับงบของคนไข้ 30 บาท เพราะสปสช.ให้งบมาเท่านี้ และบีบไปหมด ตอนนี้ไม่ระเบิด แต่อีก 3-5 ปี จะระเบิดแรงขึ้น เพราะเห็นประกาศต้นเดือนนี้ กรมบัญชีกลางกำหนดลิมิตค่าใช้จ่ายด้านยาหลายรายการ ฉะนั้น รพ.โดยเฉพาะภาครัฐจะไม่มีมารองรับ และหลายอย่างจะระเบิดออกมาให้เห็น” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

10 ปี สปสช.จ่ายค่าผ่าตัดแทบไม่แตกต่าง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้นความท้าทายของกองทุนสปสช. คือทำอย่างไร ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ได้  ยกตัวอย่างค่าดีอาร์จีจาก 9,000 บาทในปี 2556 และ 10 ปีผ่านไปขึ้นมาเป็น 9,600 บาท ในปี 2567  ทำให้สงสัยว่า ค่าผ่าตัดต่างๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กับตอนนี้ค่าบริการเท่ากันเลยหรืออย่างไร  อย่างผ่าตัดถุงน้ำดีอักเสบ ไส้ติ่งแตก ค่าใช้จ่ายจะเท่ากันเลยหรือ ต้นทุนจริงๆเปลี่ยนไปเยอะมาก

“ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการปรับทุก 3-5 ปี แล้วมาคุยกัน อย่าปล่อยให้หน่วยบริการต้องเป็นหนี้ แล้วเกิดภาพเมื่อเร็วๆนี้ๆ ที่มาเรียกร้องกัน บุคลากรมาชุมนุม อย่างรพศ.รพท. เป็นหนี้ 2.6 พันล้าน คลินิกเป็นหนี้ 200 ล้าน แบบนี้จะทำอย่างไร อย่าให้เกิดภาพแบบนี้อีก หากต้องมารวมตัวเรียกร้องอีกครั้ง ก็จะมาอีกเรื่อยๆ เราไม่อยากเห็นภาพนี้อีก ดังนั้น ขอให้ช่วยคิดถึงหน่วยบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

งบไม่สอดคล้อง หมอมะเร็งต้องแบกรับ ทำลายขวัญกำลังใจ

นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้สมาคมมะเร็งได้ส่งจดหมายร้องเรียนเพราะถูกบีบให้จ่ายยารักษามะเร็ง ทำให้แพทย์ถูกร้องเรียกเงินคืน เป็นการทำลายขวัญกำลังใจบุคลากรคนทำงาน จนส่งผลให้ไหลออกนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า รพ.เอกชนหายไปจากระบบเยอะ เหลือแค่คลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งไม่รู้ว่า จะหายไปหรือไม่  ซึ่งการจ่ายเงินตามโมเดล 5 จึงเป็นตัวอย่างที่เรามาเตือน เช่นเดียวกันกับการจ่ายตามราคาของรายการที่กำหนด หรือ Fee Schedule ที่ออกมาล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รายการยังไม่ครบ เพราะสำนักงานฯ ทำรายการไม่ทัน ก็จะเกิดช่องว่างอีก  อย่างค่ายาจ่ายให้เพียง 85%  ของเก่ายังเคลียร์ไม่ครบ ของเก่าตั้งแต่ปี 2566 จนถึงตอนนี้ก็ยังเคลียร์ไม่จบ ยังไม่จ่าย ดังนั้นในการทำงานขอให้ทำไปข้างหน้า ถ้าทำย้อนหลังก็ไม่เกิดการพัฒนา เพราะมัวแต่มาเคลียร์การบ้านกัน 

“นอกจากนี้ ในเอกสารเขียนว่า เงินที่เหลือ หรือได้รับคืนมาในกรณีใดๆ สามารถโยกไปได้ตามระเบียบปี 2558 ดังนั้น สปสช.ควรสื่อสารว่าทำอะไรไปบ้าง แล้วเงินโยกไปตรงไหน เพราะเลขาธิการ สปสช.สามารถโยกได้ครั้งละ 200 ล้านบาท เรื่องนี้หน่วยบริการมองอยู่ ตอนนี้ยิ่งมองกันเยอะ  ที่เตือนเพราะท่านจะได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมา” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ปัญหางบส่งต่อระหว่างเขตสุขภาพ 1-12 มา กทม.

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่าง เรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้า ในปี 2562 จ่ายให้เป็นเงิน หรือจ่ายเป็นยา แต่พอปี 2567 กลับปัดเข้าไปอยู่ในค่าใช้จ่ายรายหัว โดยไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการตกลงกันก่อน เรื่องนี้ก็ต้องฝากว่า เมื่อทำงานกับคนหมู่มาก ยิ่งภาวะตอนนี้ ที่เขาไม่มีความเชื่อมั่น เขาจะได้เข้าใจ ทางที่ดีจึงต้องสื่อสาร ใครมาเป็นผู้นำองค์กรต้องสื่อสาร ต้องพูดให้เยอะ และไม่ควรให้หน่วยบริการรับภาระ นี่คือบทเรียนปีที่แล้ว อย่างตามที่เขียนไว้ในประกาศ หลักเกณฑ์ข้อ 34 ระบุว่า ลดความเสี่ยงของหน่วยงบริการ ซึ่งเขียนว่า อุปกรณ์การแพทย์ แต่การกระทำกลับย้อนแย้ง เพราะปีที่แล้ว หมวด 4 โรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความเสี่ยงของหนวนบริการ แต่ปรากฏหน่วยบริการเงินหายไป 30 %  แม้สปสช.ไปต่อของราคาถูกก็ต้องบอกบริษัท ซึ่งต้องมีหนังสือเป็นทางการเหมือนกรมบัญชีกลาง  ก็เช่นเดียวกัน ต้องแจ้งให้หน่วยบริการทราบก่อนอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป เพื่อเคลียร์สต็อก ต้องคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดจริงๆ ไม่ใช่คุยกันเอง

ยังมีเรื่องการส่งต่อระหว่างเขต 1-12 มีตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา เหมือนกันหมด แต่ไม่ได้เขียนว่า เขต 1-12 ส่งมายังกทม. คือเขต 13 นั้นจะทำอย่างไร ราคาเท่าไหร่ ซึ่งหาในประกาศฯ 10 ฉบับก็ไม่มี ดังนั้น ฝากสปสช.ดูตรงนี้ด้วย  เพื่อให้เกิดความชัดเจน ง่ายต่อการทำงาน  จริงๆ ทาง 11 องค์กรผู้ให้บริการด้านสุขภาพนั้นยินดีร่วมมืออยู่แล้ว เพียงแต่ติดตรงการมาแสดงความคิดเห็นวันนี้รู้ก่อนเพียง 3-4 วันเท่านั้น ทำให้อ่านรายละเอียดไม่ทัน วันนี้จึงนำเสนอได้แค่นี้

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “11 องค์กร” ผนึกกำลังตั้ง ‘สมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์ฯ’ ครั้งแรกในไทย นอกเหนือ Provider Board)

 

ชมรม รพศ./รพท.หวั่นเสนอความเห็นแบบตรายาง

ขณะที่ นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์  ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(ชมรมรพศ./รพท.) ก่อนเสนอความคิดเห็นได้มีการซักถามทางสปสช.ว่า ก่อนหน้านี้ได้คุยกับผู้ประสานงานของสปสช.ว่า ยินดีมาร่วมแสดงความคิดเห็น จึงขอเอกสารก่อน 1 สัปดาห์เพื่อให้ชมรมได้ร่วมกันอ่านและสรุปเป็นมติของชมรม รพศ.รพท. หากไม่มีเอกสารขอไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตรงนี้ เพราะไม่อยากเป็นตรายาง ซึ่งก็เร่งรัดส่งให้เราได้ 6 วัน อย่างไรก็ตาม เราขอคำยืนยันก่อนว่า การรับฟังวันนี้จะนำข้อคิดเห็นไปปรับแก้หรือหารือก่อน หากไม่มีกระบวนการใดๆ เราขอไม่เสนอ ซึ่งจากการสอบถามรองเลขาธิการสปสช.บอกว่า สิ่งที่เสนอ จะเข้าบอร์ดสปสช. เพื่อประกอบการตัดสินใจ  ชมรมจึงมีการเสนอทั้ง 7 ประเด็น ประกอบด้วย 

1.การจ่ายค่าบริการต้องสะท้อนต้นทุนจริงในทุกบริการ 

เนื่องจากถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็จะผิดตลอดไป ยกตัวอย่าง ต้นทุนผู้ป่วยใน นักวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)ศึกษาต้นทุนในรพศ./รพท. 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยต้นทุนของรพ.แต่ละระดับอยู่ที่ราว 13,142 บาทต่อAdjRW(การปรับค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน) แต่อัตราจ่ายของบัตรทองอยู่ที่ 8,350 บาท ส่วนสำนักงานประกันสังคม 12,000-15,000 บาท และกรมบัญชีกลาง 10,800 บาท แสดงให้เห็นว่าบัตรทองจ่ายให้ต่ำกว่ากองทุนอื่นและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต้นทุนมาก จริงๆต้นทุนมีอีกหลายเรื่อง อันนี้เป็นตัวอย่าง

 

2.การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ต้องมีแหล่งเงินที่ชัดเจน

ไม่ใช่งบเหมาจ่ายรายหัวเท่าเดิม แต่ประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่เพิ่มเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง กรณีสิทธิประโยชน์ทันตกรรม ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอก แต่แหล่งเงินไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม  ในปี  2565 มีการออกประกาศที่ส่งผลให้การบริการทันตกรรมครอบคลุมแทบทั้งหมด เหลือยกเว้นที่ใช้สิทธิไม่ได้ เช่น กรณีเสริมความงาม ซึ่งในแง่ประชาชนดีแน่ แต่สร้างความกังวลในกลุ่มทันตแพทย์ เนื่องจากมีบางรายการที่ให้สิทธิประโยชน์ได้แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ไม่เคยมีการคำนวณรวมในงบฯเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยนอกมาก่อน  ผู้ป่วยได้สิทธิแต่งบฯยังไม่ครอบคลุม  จึงเริ่มมีปัญหาหน้างานระหว่างทันตแพทย์กับคนไข้

 

3.อัตราหรือราคาที่ประกาศแล้ว ห้ามปรับแก้ลดลงระหว่างปี จนกว่าจะผ่านอนุกรรมการ

เนื่องจากจะทำให้รพ.จัดหาซื้อในราคาที่สปสช.ประกาศไม่ได้ ก็จะกระทบกับการให้บริการประชาชน ฉะนั้น หากมีการต่อรองราคาได้แล้วช่วยแจ้งบริษัทที่ผ่านการต่อรองให้แจ้งทั่วประเทศว่าจะขายราคาที่ตกลงกัน รพ.จะได้ดำเนินการได้ นอกจากนี้  พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 เมื่อมีสัญญาอยู่แล้วดำเนินไป 1-2 เดือน  แต่สปสช.ประกาศราคาใหม่ แล้วสัญญาเก่าจะวุ่นวายมาก

 

4.ลด สัดส่วนกองทุนเฉพาะโรค

จากที่ปัจจุบันกำหนดไม่เกิน 12% หรือ 15 %ของงบฯเหมาจ่ายรายหัวถือว่าจำนวนมาก ให้เหลือน้อยกว่า 5 % ให้เอาเฉพาะเรื่องที่สำคัญและจำเป็นจริงๆ เนื่องจากตอนนี้งบฯเหมาจ่ายรายหัวน้อยอยู่แล้ว เมื่อตัดไปอีกก็กระทบมาก ยิ่งกองทุนเฉพาะโรคมาก งบเหมาจ่ายรายหัวยิ่งเหลือน้อยลง

 

**ชมรม รพศ.รพท.ขอให้สปสช.เป็นลูกหนี้รพ. เพราะรักษาเยอะจริง

 

5.กรณีมีการให้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ให้ดำเนินการเหมือนกันในทุกกองทุน

ปีที่แล้วช่วงโควิด เป็นตัวอย่างชัดเจน เมื่อพ้นโควิด ทราบดีอยู่แล้วว่าจะเจอคลื่นคนไข้จะกลับเข้าระบบ เพราะคนไข้ผ่าเข่า ผ่าตาที่รอได้ เมื่อพ้นโควิดก็จะกลับมา ดังนั้น การคำนวณงบอาจไม่ตรง มีการบริการเพิ่มขึ้น 10% อย่าง 8,350บาท/AdjRW แต่พอจ่ายจริงๆ เหลือประมาณ 8,000 บาท บางแห่งเหลือประมาณ 7,500 กว่าบาท อันนี้คือภาพเขต แต่ รพศ./รพท. อาจไม่เหลือ 7 พัน อันนี้มาจากการพลาดเป้าเวลาคำนวณ

จริงๆ ปัญหานี้ไม่บ่อยแต่ยอมรับและมาช่วยกันแก้ปัญหา โดยเกลี่ยจากกองทุนย่อยอื่น หรือใช้จากกองทุนที่รายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม ซึ่ง สปสช.ยังมีอยู่ หรือของบกลางเพิ่มจากรัฐบาล เพราะมีเหตุผล คิดว่ารัฐบาลรับฟัง  ถ้ายังไม่พอ ขอให้ลงบันทึกบัญชี สปสช. ว่า เป็นลูกหนี้ของหน่วยบริการ แล้วตั้งเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายที่ สปสช.ต้องตามจ่ายหนี้ให้หน่วยบริการในปีถัดไป

ขอให้สปสช.ร่วมรับผิดชอบด้วยอย่าปล่อยลอยแพหน่วยบริการ  อย่างปี 2566 จำนวน 2,600 ล้านบาทให้รพ.ต้องเป็นหนี้ กลายเป็นไปใครให้การรักษามายิ่งเป็นหนี้ ตรรกะแบบนี้ไม่น่าถูกต้อง

 

**เงื่อนไข สปสช. กระทบขวัญกำลังใจคนทำงาน

 

6.สปสช.ต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลในการซื้อบริการให้ประชาชน

ไม่ใช่ซื้อข้อมูลอย่างตอนนี้ เพราะแม้หน่วยบริการให้บริการไป แต่ข้อมูลไม่ตรงก็ไม่จ่ายเงิน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มภาระงาน เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน จะกระทบประชาชน  ดังนั้น รพ.ควรใช้ชุดข้อมูลเดียวในการเบิกจ่าย ทุกกองทุน รวมถึง กองทุนย่อยและใช้ช่องเดียวในการส่ง Financial Data hub ส่วนการตรวจสอบการโกง สปสช.ต้องหาวิธีอื่น อย่าโยนภาระให้หน่วยบริการ 

"ในระบบมีคนไม่ดีจริง แต่เมื่อมีคนโกง และสปสช.ยกการ์ดสูง กลายเป็นภาระคนดี คนทำงาน ขี่ช้างจับตั๊กแตน หาวิธีอื่นในการจับโกงเถอะ" นพ.อนุกูล กล่าว

 

7.สปสช.ควรปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุน

โดยการกระจายอำนาจจากสปสช.ไปสปสช.เขต เพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สว.ณรงค์ จวกสปสช.บริหารงบฯกระทบรพ. ทั้งรัฐ -รร.แพทย์-คลินิก ชง 3 ประเด็นเร่งแก้ไข)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง