ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

5 เครือข่ายสถาบันแพทย์ บุกกระทรวงสาธารณสุข ร้องขอความเป็นธรรมหลังทนมาเนิ่นนาน หากผู้บริหารไม่ช่วย ระบบสาธารณสุขทรุดแน่! ทั้งขาดทุน แบกรับภาระไม่ไหวมาหลายปี หวั่นกระทบ 30 บาทรักษาทุกที่ คลินิกเอกชนทยอยออกหากไม่จัดการ ด้านปลัดสธ.-เลขาสปสช. รับหนังสือพร้อมปิดห้องหารือร่วมกัน

 

เมื่อเวลา 12.45 น.วันที่ 13 กุมภาพันธ์  ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)   เครือข่ายสถานพยาบาล 5 สถาบัน ประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย  ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ,ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ราว 100 คน ร่วมถือป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เพื่อช่วยเหลือกรณีปัญหาบริหารการเงินการคลังของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำให้หน่วยบริการขาดสภาพคล่องนั้น

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (UHosNet) กล่าวว่า  ทาง 5 สถาบันเครือข่ายทางการแพทย์เดินทางมาขอเข้าพบ และยื่นหนังสือต่อ นพ.ชลน่าน ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. เพื่อขอให้ทบทวนการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการปรับวิธีการบริหารจัดการเงินการคลังให้เหมาะสม ทั้งโมเดล 2 หรือโมเดล 5  และขอให้มีการแต่งตั้ง Provider Board ที่มีหน่วยบริการเข้าร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้จ่ายเงิน อย่างสปสช. อยู่ในฐานะ   Purchaser  ซึ่งรับเงินรัฐบาลมาบริหาร แต่ไม่รู้เรื่องระบบบริการดีเท่ากับผู้ทำบริการ เห็นได้ชัดจากกรณีการระบาดของโควิด19 ที่ผ่านมา สปสช.เป็นผู้จ่ายเงินอยู่ข้างหลัง แต่หน่วยบริการทั้งหมดเป็นผู้จัดระบบบริการประชาชน ดังนั้น ระบบบริการต้องขึ้นด้วย Provider เพียงแต่จะให้รัดกุมและเหมาะสมขอให้มาทำด้วยกัน  

“วันนี้จึงมายื่นหนังสือฝากท่านปลัดสธ. ส่งถึงท่านชลน่าน เข้าใจว่าท่านติดภารกิจประชุมครม. แต่เมื่อแล้วเสร็จจะเดินทางเข้ามาร่วมหารือกันที่กระทรวงฯ โดยจะมีทั้ง 5 เครือข่ายฯ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”  รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายทักท้วง สปสช.เป็นระยะ ทักท้วงมานาน ซึ่งระบบของสปสช.ค่อนข้างบิดเบี้ยว และไม่คำนึงถึงผู้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะสถานพยาบาล ทั้งกทม.และต่างจังหวัด อีกทั้ง การออกแบบระบบบริการบิดเบี้ยวจากที่ควรเป็น ยกตัวอย่าง ช่วงโควิดเห็นชัดว่า รพ.และหน่วยงานเกี่ยวข้องจะช่วยออกแบบระบบ และสปสช.จ่ายเงิน ก็ผ่านวิกฤติ แต่ระบบปกติมีตรงนี้ไม่ครบ ทำให้สถานประกอบการหนีหาย แต่ภาครัฐหนีไม่ได้ แต่เอกชนหนีไปเยอะ ยกตัวอย่าง รพ.เอกชนในระบบบัตรทองแทบไม่อยู่ เหลือแต่รพ.เล็กๆ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ยังอยู่ในระบบจึงต้องการความเป็นธรรมในเรื่องอัตราค่าบริการ และขอให้ท่านรัฐมนตรีฯ ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. นำเรื่องนี้พิจารณาและแก้ไขโดยด่วน

ผู้สื่อข่าวถามกรณีการขาดทุนของโรงเรียนแพทย์เท่าไหร่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า โรงเรียนแพทย์ขาดทุนในส่วนของผู้ป่วยในเยอะอยู่ ซึ่งก็ทน ส่วนผู้ป่วยนอกสำหรับปีงบประมาณ 2566 ประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท นี่ยังไม่รวมทุกสมาชิก ส่วนปี 67 ก็ไม่แคล้วกัน จึงเป็นที่มาทนไม่ไหว ต้องมา

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์  ประธานชมรมรพศ.รพท.  กล่าวว่า รพ.ในสังกัดสธ.ภูมิภาคทั้ง 12 เขต หากพูดถึงขาดทุนเท่าไหร่ ต้องถามว่าต้นทุนเท่าไหร่ ปัจจุบันสปสช.จัดสรรให้รพ.ต่ำกว่าต้นทุน อย่างผู้ป่วยในมีการศึกษาว่า ต้นทุนของรพ.สังกัดสธ. พบว่า  1 หน่วยประมาณ 13,000 บาท แต่สปสช.จ่าย 8,350 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ เข้าใจว่า สปสช.ได้รับงบประมาณเท่านี้และบริหารเท่าที่มี ทำให้จ่ายต่ำกว่าต้นทุน

เมื่อถามว่าการที่สปสช.มีงบกองทุนย่อยเยอะจะส่งผลด้วยหรือไม่ ต้องบริหารจัดการอย่างไร นพ.อนุกูล กล่าวว่า  มีผลเยอะ เพราะเป็นลักษณะการเงินนำบริการ และโดยหลักของ WHO ยึดว่า การบริการที่จำเป็นประชาชนต้องนำก่อน และค่อยเงินมาหนุน ไม่ใช่เงินมาก่อน

เมื่อถามว่าทางออกในการเสนอตั้ง Provider Board จะช่วยอย่างไร รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า  ณ ปัจจุบันหากไปดูกรรมการ ของสปสช.ทั้งชุดใหญ่ชุดเล็กจะมีองค์ประกอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่ตัวแทนแท้จริง และกรรมการแต่ละชุดมีข้อมูลการตัดสินใจไม่กี่นาที และไม่ถามผู้เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มา และตัวเลขหลายอย่างผิดจากควาเมป็นจริง จึงขอให้มีตัวแทนเราเป็นกลุ่มก้อนเข้ามา ไม่ใช่เอาเวลาเร่งรัด เร่งด่วน

“ทุกคนรักประชาชนหมด แต่ไม่ใช่ว่าต้องเร่งด่วน เพราะพวกนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ และการประกาศต่างๆ ต้องออกตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ไม่ใช่ออกหลังปีใหม่ หากวางแผนดีต้องออกก่อนปีงบประมาณจะได้เตรียมตัวได้” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า คลินิกได้รับผลกระทบมาก และขอให้ทางสปสช.ช่วยจ่ายเงินให้คลินิกที่ทำงานไปแล้วในปี 2566 เพราะตอนนี้จ่ายเพียงครึ่งเดียว ส่วนปี 2567 งบประมารไม่เพียงพอ เพียงชั่วไตรมาสแรก 3 เดือนใช้ไปเกินครึ่งแล้ว คาดว่าไม่ถึง 6 เดือนงบประมาณ 2567 จะหมดลง และอยากให้ตรวจสอบการใช้เงินสปสช.ย้อนหลังด้วย เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆเลย ทั้งๆที่ขอตรวจสอบ

“ขอสนับสนุนตั้ง  Provider Board และขอให้คนเข้ามาเป็นคนกลาง และแยกฝ่ายบริหารออกจากการเงิน เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม ที่สำคัญหัวใจของปัญหา เงินในระบบไม่เพียงพอกับภาระงานที่พวกเราดูแลอยู่ และสปสช.มีการบริหารงานทำให้เกิดความเสี่ยง ทำให้ผู้อยู่ในระบบเดือดร้อน จึงต้องแก้รากเหล้า หากเงินไม่พอ ก็ควรสนับสนุนงบประมาณให้คลินิก” พญ.นันทวันกล่าว

เมื่อถามว่าต้องเสนองบประมาณจากภาครัฐเพิ่มใช่หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งงบประมาณขาขึ้น ทางสปสช.ต้องนำงบจริงไปขอ และต้องกลับมานั่งดูว่า จะวางระบบอย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว จึงต้องทบทวนเรื่องนี้ ผู้ให้บริการอดทนมานาน เรายืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนประชาชน วันนี้จึงต้องมาแสดงพลังให้เห็น ท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะได้กลับไปพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากการเรียกร้องวันนี้ไม่เป็นผล จะเกิดอะไรขึ้นในระบบสาธารณสุของประเทศ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า  ยังไม่มีคำตอบ ณ วันนี้ เพราะจริงๆ เราทำอะไรเราคำนึงถึงประชาชน เราไม่หันหลังให้ประชาชน และเชื่อว่า ท่านรัฐมนตรีฯ ท่านนายกฯ จะไม่ทิ้งเรื่องนี้ เพราะหากภาคบริการสาธารณสุขทรุดไป จะไม่มีใครปกป้องด้านสุขภาพ หากโควิดกลับมาจะมีแต่คนหนี้ การที่อยู่ไม่ใช้เพราะเงิน แต่เราต้องมีไว้เพื่อพัฒนาหน่วยงาน หลายอย่างก็ขึ้นราคา ส่วนระบบจะเป็นอย่างไรต้องให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณา แต่เราคงมีข้อเสนอไปถึง เป็นมุมมองหนึ่งเพื่ออภิบาลให้ต่อเนื่อง

เมื่อถามว่าเครือข่ายฯ จะทำหนังสือถึงซูเปอร์บอร์ดที่นายกฯเป็นประธานใช่หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่หยุดนิ่ง แต่จะรูปแบบไหนก็ต้องรอ เราเน้นสันติ เพราะเราเป็น โปรเฟสชันแนลวัน เพราะทุกคนถูกสอนให้ดูแลคนไข้ เราต้องทน แต่ความทนมีขีดจำกัด เราก็สะท้อนออกมา ซึ่งไม่ได้สะท้อนประชาชน แต่สะท้อนไปยังผู้บริหารที่ดูแลระบบ

เมื่อถามว่า ถ้าเรื่องนี้ยังไม่แก้ไขจะกระทบกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จะมีหน่วยบริการหนีหายจากระบบ อย่างคลินิกเอกชนออกไปแน่ๆ จะเหลือหร่อยหรอ ส่วนรพ.รัฐหนีไม่ได้ แต่ไม่อยากให้มองผู้ป่วยบัตรทองเป็นผู้ป่วยชั้นสอง ไม่อยากให้เกิดสภาพนั้น เช่น รพ.ต้องออกนโยบายระมัดระวังเวลามีคนไข้บัตรทอง

เมื่อถามว่าเป็นการบริหารงานผิดพลาดหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีสิทธิไปบอกว่าล้มเหลวหรือผิดพลาดอะไร เราไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ แต่ขอให้ทบทวน เป็นข้อมูลจริง

เมื่อถามว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขครั้งนี้ จะไปหานายกฯ หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า  ขอไม่ตอบ อย่างไรก็ตาม  คงต้องถามท่านรัฐมนตรีเป็นระยะ การแก้ไขช้าเราเข้าใจ เพราะเราก็ทนรับมาเป็น 10 ปีแล้ว

ต่อมานพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มารับหนังสือแทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. และมีนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. มาร่วมรับหนังสือ จากนั้นเข้าหารือในห้องประชุมชั้น 2 ร่วมกัน

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

- “ชลน่าน” สั่งสปสช.ร่าง Provider Board ตามข้อเรียกร้องเครือข่ายแพทย์ แต่อยู่ใต้พรบ.บัตรทอง