ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข เผย 11 องค์กรจัดตั้ง “สมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์” ทำได้ มีที่มาที่ไป อย่าไปกังวลประเด็นไม่มั่นใจ สปสช.  เตรียมตั้ง  Provider Board  หรืออนุกรรมการฯ ภายใต้บอร์ดสปสช. หวั่นจะไม่ให้ความเป็นธรรม ไม่ตอบโจทย์ประเด็นเบิกจ่ายการเงินที่เหมาะสมกับการบริการ

 

จากกรณีที่ประชุม 11 องค์กร รวมสถานพยาบาล 90% ของประเทศไทย จัดตั้ง “เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข” เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือ Provider Board ที่จัดตั้งภายในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ซึ่งทางสมาพันธ์ฯ ยืนยันไม่ได้ตั้งขึ้น เพราะไม่มั่นใจคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นในบอร์ดสปสช. ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในสมาพันธ์ฯ บางส่วนมองว่า การจัดตั้งครั้งนี้จะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะส่วนตัวไม่มั่นใจว่า บอร์ดผู้ให้บริการที่จะจัดตั้งขึ้นในสปสช. จะตอบโจทย์เรื่องงบประมาณที่สอดคล้องกับการบริการจริงหรือไม่นั้น  

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “11 องค์กร” ผนึกกำลังตั้ง ‘สมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์ฯ’ ครั้งแรกในไทย นอกเหนือ Provider Board)

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า จะมีข้อกังวลหรือไม่ว่า การตั้งครั้งนี้เพราะไม่มั่นใจ Provider Board ในบอร์ด สปสช.  ว่า  อย่าไปกังวลแบบนั้น การตั้งสมาพันธ์ฯขึ้นมา ถือเป็นการมีส่วนร่วม และมีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน เมื่อมีข้อเสนออะไรมาก็มีที่มาที่ไป ซึ่งอยากให้มีส่วนร่วมในการเสนอในสิ่งที่เขารับภาระหน้าที่ ในฐานะผู้ให้บริการ ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เล็งเห็นประเด็นนี้ จึงได้ให้ตั้ง Provider Board ซึ่งความหมายคือ เป็นกรรมการพัฒนาหน่วยบริการผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นอนุกรรมการชุดหนึ่ง อยู่ภายใต้บอร์ดสปสช. 

“ส่วนที่ 11 องค์กรตั้งขึ้นมานั้น ก็จะเป็นแนวร่วมอีกทาง เวลามีข้อเสนออะไร ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  โดย 11 องค์กร หรือ 11 คณะก็สะท้อนถึงแต่ละส่วนที่ทำงานได้ จึงเป็นอีกทางเลือกที่จัดตั้งได้ มีข้อเสนออะไร ก็สามารถเสนอเข้ามาในอนุกรรมการคณะอนุกรรมการพัฒนาหน่วยบริการผู้ให้บริการ ในบอร์ดสปสช.ได้เช่นกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคเสนอว่า ควรมีอนุกรรมการ หรือบอร์ดในส่วนภาคประชาชนด้วย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  เรื่องนี้มีรายละเอียด เนื่องจากในมุมกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ นั้น จะเป็นหลักประกันให้ผู้บริโภคทุกคน หรือประชาชนทุกคนเป็นหลัก แต่ผู้ให้บริการแทบจะไม่มี ส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ดูแลเรื่องมาตรการของสถานพยาบาลเท่านั้น ว่า ผู้บริโภคต้องได้รับการบริการที่มีมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นต้นผู้บริโภคทั้งหมดนั่นเอง อย่างไรก็ตาม  การตั้งคณะกรรมการใดๆ ก็ต้องดูความสอดคล้องเหมาะสมกับกฎหมายด้วยเช่นกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง