ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติให้บริการเครื่องฉายรังสีศัลยกรรม Cyberknife รักษาโรคมะเร็งด้วยความแม่นยำสูง ฉายรังสีได้หลายทิศทาง เคลื่อนที่รอบตัวผู้ป่วย ลดผลกระทบจากรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติ เหมาะใช้รักษามะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งก้อนไม่เกิน 6 เซนติเมตร ในอวัยวะสำคัญ

วันที่ 3 เมษายน 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคมะเร็งซึ่งปัจจุบันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย จึงได้จัดให้โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในโรคที่อยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อลดอัตราการป่วย ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง และลดระยะเวลาการรอคอยการรักษา ตลอดจนการพัฒนามาตรฐาน สถานบริการให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปัจจุบันนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษามีความก้าวหน้า ไปมาก เครื่องฉายรังสีศัลยกรรม Cyberknife สามารถรักษาโรคมะเร็งที่เป็นก้อนหรือรอยโรคเฉพาะจุดได้อย่างแม่นยำ ทำให้ผลการรักษาของผู้ป่วยดีขึ้น และมีผลข้างเคียงจากการรักษาลดลง

 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งปอดและมะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับต้น ๆ ในคนไทย ทั้งเพศหญิงและเพศชาย การฉายรังสีในมะเร็งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาตามการหายใจ จึงเป็นข้อจำกัดอย่างมากในการฉายรังสี เครื่องฉายรังสี Cyberknife เป็นเครื่องฉายรังสีในลักษณะของแขนกล สามารถฉายรังสีได้หลายทิศทาง เคลื่อนที่ได้เกือบรอบตัวผู้ป่วย มีระบบอุปกรณ์ในการกำบังรังสีและกำหนดรูปร่างเพื่อปรับความเข้มของลำรังสี  ทำให้สามารถสร้างรูปร่างของลำรังสีในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ

รวมถึงเพิ่มระบบติดตามเป้าหมายที่มีการเคลื่อนที่ตามการหายใจ อย่างเช่น ก้อนในปอด ก้อนในตับได้อย่างแม่นยำ นอกจากนั้นยังออกแบบมาเพื่อเทคนิคการฉายรังสีร่วมพิกัดหรือรังสีศัลยกรรมเป็นหลัก สามารถให้ความเข้มของรังสีได้สูง รวดเร็ว มีการกระจายของรังสีไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย นอกจากจะฉายรังสีด้วยเทคนิครังสีศัลยกรรมแล้วเครื่องนี้ยังสามารถใช้เทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้มได้ด้วยเช่นกัน  ดังนั้นจึงสามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นก้อนขนาดไม่เกิน 6 เซนติเมตร ที่อยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดสำคัญและเป็นอวัยวะที่ไวต่อรังสี เช่น เนื้องอกในสมอง มะเร็งปอด มะเร็งตับในระยะเริ่มต้นที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือกรณีมีการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งในตำแหน่งที่เคยได้รับการฉายรังสีมาก่อน เป็นต้น 

สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ คลินิกรังสีรักษา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โทร. 0 2202 6888 ต่อ 2103 หรือ 2233