ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติเผย "มะเร็งรักษาทุกที่" สิทธิ์บัตรทองตั้งแต่ 1 ม.ค.64 มีคนไข้เข้าร่วมราว 4 แสนคน ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ต้องมีใบส่งตัว เล็งหารือขยายสิทธิ์ประกันสังคม-ข้าราชการ ชี้มีศักยภาพรองรับผู้ป่วย ส่วนข้อกังวลเรื่องภาระงาน จากการพูดคุยทุกคนพร้อมทำงานและเข้าใจความทุกข์ของผู้ป่วยต้องการรักษาให้เร็ว ไม่อยากรอนาน ด้านแพทย์มะเร็งภูมิใจช่วยคนไข้ฟื้นตัว มีคุณภาพชีวิตดี

 

เล็งขยาย cancer anywhere สิทธิประกันสังคม-ข้าราชการ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวถึงโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ cancer anywhere ว่า โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีคนไข้เข้ามาในโครงการประมาณ 3-4 แสนคน โดยหลายๆคนบ่งบอกว่า รักษาได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องย้อนกลับไปกลับมา เพื่อเอาใบส่งตัว แต่โครงการนี้ยังจำกัดที่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งทำให้รู้สึกว่า คนไข้ในสิทธิ์อื่นๆ น่าจะได้โครงการตรงนี้ด้วย จึงจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า คนไข้สิทธิ์อื่นๆควรได้รับด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า  หากมีการขยายสิทธิ์การรักษาไปยังสิทธิ์อื่นๆ ทางสถาบันฯจะพร้อมรองรับหรือไม่ พญ.นภา กล่าวว่า  สถาบันฯมีศักยภาพ เพราะทุกวันนี้เราก็มีการคอนแทรกกับโรงพยาบาลเอกชนด้วย รวมถึงโรงพยาบาลอื่นๆ เพราะจะมีการส่งต่อมารักษา เราเน้นการทำงานบูรณาการร่วมกัน

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาการเบิกจ่ายของบัตรทองถือว่าไม่มีอุปสรรค รวดเร็วใช่หรือไม่ พญ.นภา กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เบิกจ่ายรวดเร็ว

 

หากขยายสิทธิ์ภาระงานเพิ่ม แต่บุคลากรพร้อมช่วยผู้ป่วยมะเร็ง เข้าใจความทุกข์

เมื่อถามกรณีหากมีการขยายโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ไปยังสิทธิ์อื่นๆ บุคลากรของสถาบันฯ จะรองรับงานได้ หรือจะมีภาระงานเพิ่มหรือไม่ พญ.นภา กล่าวว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เข้าไปสัมผัสพูดคุยกับบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล วิชาชีพต่างๆ รวมถึงสายสนับสนุน ซึ่งคนทำงานในสถาบันมะเร็งฯ พร้อมและเข้าใจ ที่สำคัญรู้สึกถึงความทุกข์ของคนไข้ ของญาติ เพราะกลุ่มนี้เมื่อรู้ว่าป่วยมะเร็ง เขาต้องมารอหมออีกนานหรือถึงจะได้รักษา ดังนั้น โครงการนี้จึงช่วยบรรเทาความทุกข์ พวกเราเข้าใจ และในองค์กรก็มีการสื่อสารกันหมด มีปัญหาก็คุยกันเพื่อหาทางออก

“ในเรื่องของการหารือขยายไปยังสิทธิ์อื่นๆ นั้นมีการพูดคุยกันแล้ว และในสัปดาห์หน้าจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ทั้งสำนักงานประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ” ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าว

หมอมะเร็งภูมิใจทำงานช่วยรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ฟื้นตัวดีขึ้น

พญ.หทัยวรรณ ม่วงตาด นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรมสาขาศัลยกรรม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงความภาคภูมิใจในการเป็นแพทย์ และส่งต่อกำลังใจในการทำงานเพื่อประชาชน ว่า ความภาคภูมิใจของตน คือการได้ดูแลผู้ป่วย ยิ่งผู้ป่วยมะเร็ง ที่ได้รับการผ่าตัดและฟื้นตัวได้หลังผ่าตัดโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี การได้เห็นรอยยิ้มของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ยิ่งรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จในวิชาชีพแพทย์ ทั้งนี้ ขอส่งมอบกำลังใจให้กับทุกท่านที่ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ ชนะอุปสรรคที่มี สามารถฝ่าฟันไปได้อย่างราบรื่น

ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์ จับมือเครือข่ายแพทย์รัฐและเอกชน ร่วมญี่ปุ่นศึกษายีนคนไทยตอบสนองยามะเร็ง