ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ ร่วมลงนามศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่น ทำการศึกษารหัสพันธุกรรมคนไทยตอบสนองยามะเร็งอย่างไร เป็นการศึกษาครั้งแรก ร่วมกันทั้งเครือข่ายแพทย์ไทยและญี่ปุ่น พร้อมตั้งคณะกรรมการฯพิจารณาหารือจำนวนกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต

 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่กรมการแพทย์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการรักษาโรคมะเร็งระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น โดย นพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็ง 19 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 9.6 ล้านคน ซึ่งยารักษาแต่ละชนิดอาจไม่สัมพันธ์กับคนแต่ละประเทศ จึงจะมีการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยเฉพาะการนำยีน หรือรหัสพันธุกรรมของคนไทย กับยาว่า มีความสัมพันธ์ร่วมกันหรือไม่ ซึ่งทางญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับไทย เนื่องจากศักยภาพของไทยในเรื่องสาธารณสุข เรื่องทางการแพทย์ในการทำงานร่วมกันได้

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้ทางญี่ปุ่นได้ตั้งสถาบันวิจัยแห่งชาติของญี่ปุ่น โดยตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย ซึ่งเมื่อได้วิจัยพบว่า ยาตัวใดสำเร็จจากการศึกษาก็จะสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยไทยในราคาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระยะยาว โดยยาตัวไหนเข้ามาก็จะมีการศึกษาร่วมกัน ทั้งของแพทย์ไทยและญี่ปุ่นจนกระทั่งสำเร็จ ซึ่งยาจะเน้นในเรื่องจิโนมิกส์ทางการแพทย์ ดูว่ายาเหมาะสมกับยีนของแต่ละคนเป็นอย่างไร จะทำให้ทราบว่าคนไทยเป็นยามะเร็งชนิดไหน จะใช้ยาได้เหมาะสม รวมถึงการเป็นมะเร็งแล้วจะเป็นซ้ำหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันไทยจะพบมะเร็งเต้านมในผู้หญิงมาก  ส่วนผู้ชายมะเร็งปอด แต่การศึกษาครั้งนี้จะศึกษามะเร็งทุกชนิด  

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีความร่วมมือในการศึกษาจิโนมิกส์ของคนไทยกับโรคมะเร็ง  และเป็นการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศ ซึ่งการทำงานในส่วนของแพทย์ญี่ปุ่น ทางประเทศไทยจะมีการออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะชั่วคราวให้แก่แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งของศูนย์มะเร็งแห่งชาติจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของแพทยสภา  ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการทำวิจัยทางคลินิกแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก  อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นระดับประเทศ มีทั้งโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ทั้งรามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ศิริราชในนามเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ UHosNet และยังร่วมมือกับรพ.เอกชน

พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล  ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า  โครงการนี้มีการหารือกันมานาน โดยกรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข หวังว่าหลังเสร็จการศึกษาวิจัยจะทำให้คนไทยได้รับยาที่เป็นประโยชน์ มีคุณภาพ แต่ราคาต่ำลง โดยแผนระยะสั้น 3 เดือนจะเห็นโครงการวิจัยยาบางตัวที่ทางญี่ปุ่นจะนำเข้ามาใช้ในคนไทย ซึ่งจะเป็นยาที่ศึกษาทางจิโนมิกส์เป็นหลัก แต่รายละเอียดจะต้องหารือกันผ่านคณะกรรมการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ ก่อน  

ผู้สื่อข่าวถามว่าวางเป้าหมายจำนวนตัวอย่างผู้ป่วยเท่าไหร่ และคัดเลือกจากสถาบันมะเร็งฯ หรือรพ.อื่นๆ พญ.นภา กล่าวว่า โครงการนี้สถาบันมะเร็งฯ จะร่วมมือกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทั้งรามา จุฬาลงกรณ์ ศิริราช และเอกชน ซึ่งจะมีการหารือและคำนวณตัวอย่างผู้ป่วยที่จะทำการศึกษาก่อนว่า จะใช้เท่าไหร่ และจะรวบรวมจากจุดต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างการกระจายที่ถูกต้อง

เมื่อถามว่าแสดงว่ายังไม่ได้กำหนดจำนวนผู้ป่วย กลุ่มไหน มะเร็งชนิดใดใช่หรือไม่ พญ.นภา กล่าวว่า ใช่ และต้องขึ้นกับการศึกษาแต่ละโครงการ เช่น ยาตัวนี้ เหมาะกับการรักษามะเร็งโรคนี้ในกลุ่มอายุเท่าไหร่ หรือผู้ป่วยมะเร็งระยะเท่าไหร่ ซึ่งมีรายละเอียด

เมื่อถามว่าสถานการณ์มะเร็งในไทยและญี่ปุ่นใกล้เคียงกันหรือไม่ พญ.นภา กล่าวว่า ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยไทยภาพรวมทั้งหญิงและไทย คือ มะเร็งตับ หรือมะเร็งท่อน้ำดี รองลงมามะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก

“เหตุผลที่ต้องมาทำการวิจัยร่วมกันก็เพื่อให้เห็นว่ายีนแต่ละคนเป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาหรือไม่ เพราะคนแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทราบว่า ยาตัวนี้คนไข้ในเอเชียตอบสนองได้ดีหรือไม่อย่างไร ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการรักษามะเร็งจะมาทางการศึกษายีนของแต่ละคน เรียกว่าต้องลงระดับรหัสพันธุกรรมของคน เพื่อให้การรักษาดีขึ้น คนไข้มีอายุยืนยาวมากขึ้น” พญ.นภา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาว่า สำหรับประโยชน์โครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศครั้งนี้ (cross-border Decentralized Clinical Trials: DCTs)

1. ผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมการวิจัยทางคลินิก จะได้รับโอกาสเข้าร่วมการวิจัยทางคลินิกที่ดำเนินการในประเทศญี่ปุ่น

2. การวิจัยทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่นอาจมีจำนวนผู้ป่วยมาเข้าร่วมในโครงการไม่เพียงพอ การวิจัยจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นเมื่อมีผู้ป่วยจากประเทศไทยเข้าร่วมในโครงการฯ

3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยทางคลินิกผ่านระบบออนไลน์ จะทำให้กระบวนการติดตามการดำเนินโครงการวิจัยในประเทศไทยเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายและทรัพยากรในการทำวิจัยฯ

นอกจากนี้ การดำเนินงานวิจัยทางคลินิกรูปแบบใหม่ของโครงการนี้ การรับสมัครผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นการวิจัยระหว่างประเทศจะทำได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และคุ้มค่ายิ่งขึ้น

 สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ

-กรมการแพทย์ และศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่นจะร่วมกันหาแหล่งทุนสำหรับสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยระหว่างประเทศ

-ศูนย์มะเร็งแห่งชาติจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้แก่สถาบันทางการแพทย์ของไทยจากการร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศและการดำเนินโครงการ DCTs

-กรมการแพทย์จะจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ รวมถึงพัฒนาเครือข่ายสถาบันวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย และการทำงานวิจัยระหว่างประเทศร่วมกัน

-การทำวิจัยทางคลินิกภายใต้โครงการนี้จะดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่อง ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการดูแลจากนักวิจัยซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งของทั้งไทยและญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาขั้นตอนการดำเนินงานโครงการฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด