ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เชียงรายพบผู้ป่วยมะเร็งรักษาด้วยรังสีปีละ 900 ราย จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาถึงรพ.มะเร็งลำปาง กระทบภาระค่าเดินทาง ที่พัก ค่าอาหารรายละ 15,000 บาท ทำให้ 25%ไม่รักษา ล่าสุดรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์แก้ปัญหา สร้างอาคารรังสีรักษา ช่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น

 

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย โดยมี พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารเข้าร่วมครั้งนี้

มะเร็งครบวงจร ช่วยผู้ป่วยเชียงราย-พะเยาเข้าถึงรักษาด้วยรังสี

นพ.ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ “มะเร็งครบวงจร” เป็น 1 ในนโยบายมุ่งเน้นที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจ โดยเฉพาะในมะเร็ง 5 ชนิด ที่พบมากและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการเปิดศูนย์รังสีรักษา โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พร้อมมีทีม Cancer Warrior ช่วยดูแล เพิ่มความรอบรู้ สร้างพฤติกรรมป้องกันมะเร็งให้กับประชาชนจังหวัดเชียงราย ตามแนวทาง Quick Win “มะเร็งครบวงจร” จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา ที่มีประมาณ 2,400 ราย/ปี ซึ่งครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการฉายรังสี (ข้อมูล 3 ปีย้อนหลัง) ได้เข้าถึงบริการ ลดการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และบรรเทาอาการของโรคในระยะแพร่กระจาย ส่งผลให้มีโอกาสหายจากโรคมะเร็งได้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวก ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย

ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรพ.มะเร็งลำปาง

ด้าน พญ.อัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 758 เตียง รับผิดชอบผู้ป่วยโรคมะเร็งจังหวัดเชียงรายและพะเยา โดยมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย ได้แก่ 1.มะเร็งตับ 2.มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 3.มะเร็งปอด ส่วนในเพศหญิงพบมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ตามลำดับ ส่วนมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุด คือ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม ตามลำดับ

ปัญหาการเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำผู้ป่วย 25% ไม่รับการรักษา

“เดิมผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยรังสี ส่วนใหญ่ประมาณ 900 รายต่อปี ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ทำให้มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 25 ที่ไม่เดินทางไปรับการรักษา เนื่องจากมีภาระด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ประมาณ 15,000 บาทต่อราย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์จึงได้ก่อสร้างอาคารรังสีรักษา 6 ชั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างต้านแผ่นดินไหว ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 123,900,000  บาท เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งได้เข้าถึงบริการด้านรักษา ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัว โดยได้เริ่มทยอยเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา” พญ.อัจฉรา กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรในการให้บริการด้านรังสีรักษา และพัฒนาระบบสารสนเทศรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานบริการในเครือข่าย เพื่อความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วย และนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบและบริการ