ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ปีละ 1.4 แสนคน เสียชีวิต 8.3 หมื่นคน! กรมการแพทย์ ระบุ 5 อันดับมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว พร้อมร่วมมือภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์วันมะเร็งโลกปี 2567 สร้างทีมต่อสู้โรคมะเร็งระดับประเทศ 

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์วันมะเร็งโลก ปี 2567 กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนการดําเนินงาน 13 นโยบายกระทรวงสาธารณสุข 2567 ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในมิติการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่คนไทยใน 100 วันแรกนั้น 1 ในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข คือ นโยบาย “มะเร็งครบวงจร” เป็นหนึ่งในนโยบายการดําเนินงานที่ครอบคลุมทั้งการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และบําบัดฟื้นฟู ทำให้การดําเนินงานแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งเห็นผลสัมฤทธิ์ได้มากยิ่งขึ้น มีการจัดตั้งทีม Cancer Warrior เพื่อต่อสู้โรคมะเร็งในทุกระดับ ก่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานด้านโรคมะเร็งที่เป็นรูปธรรม 

จากที่องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก และได้กำหนดหัวข้อใหญ่ของการรณรงค์ปี 2565 – 2567 คือ “Close the Care Gap: ปิดช่องว่าง เพื่อการดูแลที่สมคุณค่า” หัวข้อการรณรงค์ย่อยปี 2567 คือ “Together, We Challenge those in Power” ในฐานะผู้นำด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านโรคมะเร็งทุกด้าน และขอร่วมสนับสนุนให้คนไทยรวมไปถึงบุคลากรทางสาธารณสุขทุกคน ช่วยกันพัฒนา เติมเต็มนโยบายมะเร็งครบวงจร ให้สามารถก้าวข้ามปัญหาที่ท้าทาย โดยเฉพาะปัญหาโรคมะเร็ง และขอให้มีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก โดยโรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ

  1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  2. มะเร็งปอด
  3. มะเร็งเต้านม
  4. มะเร็งปากมดลูก
  5. มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ปัญหาโรคมะเร็งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคุณภาพชีวิตของประชากร ทั้งในระดับครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ทั่วโลกประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ปัญหาโรคมะเร็งจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งอย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมการแพทย์ยังได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง จากนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ได้เชื่อมโยงการดำเนินการตั้งแต่ระบบบริการปฐมภูมิจนถึงศูนย์เชี่ยวชาญมะเร็งระดับสูงเข้าด้วยกัน เพื่อประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างครบวงจร เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน  

กรมการแพทย์และภาคีเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันมะเร็งโลก ปี 2567 ณ โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี จ.ชลบุรี เพื่อร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับโรคมะเร็ง ลดความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง มีการเปิดใช้งานหอพักรับรองผู้ป่วยและญาติ “บ้านชลสุข” รวมถึงเครื่องรักษาด้วยความร้อนแบบตื้น (Superficial Hyperthermia) และเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุน (Tomotherapy) ตรวจเยี่ยมรถ mobile คลายเคลียด (โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์)

พร้อมทั้งมีกิจกรรมที่สนใจ อาทิ นิทรรศการมะเร็งครบวงจร โดยกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย (กรมสุขภาพจิต), หน่วยงานต่าง ๆ ของ กระทรวงสาธารณสุข การรักษาทางเลือก : Dog therapy, Art therapy, แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน กิจกรรมความหวัง (HOPE) คือพลัง: ชมรมไร้กล่องเสียง, กลุ่มรักษ์เต้านม  โดยมี พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.ส.ณัฐนิชา บุรณศิริ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.ศศดิศ ชูชนม์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสุภาพร การย์กวินพงศ์ นายกสมาคมแม่บ้านสาธารณสุข คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชาชน และ อสม. เข้าร่วม โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการหลีกเลี่ยงและลดการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง