ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต เร่งสภาการแพทย์แผนไทยจัดประชุมเพื่อจัดสอบใบประกอบวิชาชีพและรับรองสถาบันการศึกษา หลังเกิดความขัดแย้งกันภายใน ชี้ส่งผลกระทบวงกว้างทั้ง "ผู้เรียน-สถาบันการศึกษา-บุคลากรขาดโอกาสบรรจุ ขรก. - การรับบริการปชช." ฯลฯ

จากกรณีที่ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสเฟสบุ๊กเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยระบุข้อความข้างต้นว่า คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำหนังสือถึงกรรมการสภาการแพทย์แผนไทยให้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดประชุมและเข้าร่วมประชุมเพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย ภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 นั้น จนตอนนี้ได้เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ที่คณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย มีความขัดแย้งกันและยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีการประชุมตามกฎหมาย อันอาจเกิดความเสียหายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องไปทั่วประเทศได้

ล่าสุด 6 เมษายน 2567 อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้ข้อมูลเรื่องนี้กับ Hfocus ว่า คนเราอาจมีความเห็นต่างก็ได้ในสภาการแพทย์แผนไทย เพียงแต่พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้ยุติด้วยเสียงข้างมากของคณะกรรมการ เหตุเพราะว่า คณะกรรมการนั้นก็มีมาจากหลายส่วนทั้งจากส่วนราชการที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายหรือแม้กระทั่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น ประเด็นคือตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ยังไม่มีการประชุมสภาการแพทย์แผนไทยซึ่งตอนนี้จะเข้าสู่เดือนเมษายนแล้วยังไม่มีการประชุม จึงได้ทำหนังสือถึงกรรมการสภาการแพทย์แผนไทยให้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดประชุมและเข้าร่วมประชุมเพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย ภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556

ส่งผลกระทบวงกว้างทั้ง "ผู้เรียน-สถาบันการศึกษา-บุคลากรขาดโอกาสบรรจุ ขรก.

"เมื่อไม่ได้มีการประชุมเพราะมีความขัดแย้งกัน จึงเป็นเหตุทําให้ผมต้องทําหนังสือถึงทุกคนว่าทุกคนมีหน้าที่ในการประชุมและเข้าประชุม และไม่ว่าจะขัดแย้งกันเพียงใดก็ตาม เขาต้องมีหน้าที่จะประชุมตามกฎหมายเพื่อกําหนดภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการรับรองหลักสูตรหรือแม้กระทั่งการจัดสอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทํา เพราะว่าในตอนเข้ามาเรียนตามหลักสูตรไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนที่มีการสอนการแพทย์แผนไทยประกาศนียบัตรก็ตาม ทุกโรงเรียนหรือทุกหลักสูตรต่างได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทยทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าพวกเขาไม่สามารถสอบได้เพราะมีการทะเลาะกันจึงไม่มีการจัดสอบ พวกเขาย่อมเป็นผู้เสียหายทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง รวมทั้งจะส่งผลกระทบกับความไม่แน่นอนในการเปิดหลักสูตรหรือไม่ ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นโดยเฉพาะมหาลัยเอกชนและรัฐต้องได้รับผลกระทบไปด้วยโดยปริยาย ดังนั้นความเสียหายจะเกิดขึ้นในวงกว้างมาก ในกรณีที่มีความขัดแย้งกัน" อ.ปานเทพ กล่าว

อ.ปานเทพ กล่าวต่อว่า เมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องมีข้อยุติ โดยข้อยุติอย่างหนึ่งก็คือ ต้องอาศัยมติคณะกรรมการเสียงข้างมากจะไม่จัดประชุมไปเรื่อยๆเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็แล้วแต่การมีความขัดแย้งกันไม่สามารถอ้างเป็นเหตุในการไม่ประชุม อันนี้ไม่เห็นด้วย ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีหน้าที่ในการจัดประชุมเพราะต้องอาศัยเสียงข้างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจะผิดกฎหมายจะถูกกฎหมายหรือจะทําการแก้ไขก็โดยมติคณะกรรมการเสียงข้างมากทั้งสิ้น

"การจะอ้างว่าเพราะมีความขัดแย้งกันและมีการฟ้องร้องกัน และต้องรออํานาจศาลตัดสินเสียก่อนอย่างนี้เป็นต้นจึงค่อยมีการจัดประชุม ผมก็ยิ่งไม่เห็นด้วยเพราะว่าการตัดสินของศาลในเรื่องที่ว่าจะประชุมได้หรือไม่ ผลเสียหายจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรและนักเรียนทั่วประเทศไทย" 

ถึงตอนนี้เดือนเมษายนแล้วก็ยังไม่ได้รับหนังสือตอบรับ เรื่องที่เรียกร้องให้ประชุมและจัดดำเนินการตามครรลองปกติ จะมีมติอย่างไรหรือการประชุมนั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย สภาฯก็มีหน้าที่จัดประชุมเพื่อรับรองผลรายงานผลการประชุมนั้นชอบหรือไม่ชอบ จัดประชุมนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง วาระแต่ละวาระมีการรับรองถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ไม่ใช่รอให้ใครต้องมานั่งทวงอีก เพราะในระหว่างที่ไม่ดําเนินการคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทยมีความเสี่ยงตามกฎหมายว่าจะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

ดังนั้นกรรมการสภาการแพทย์แผนไทยควรจะจัดประชุมเพื่อหาข้อยุติเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดไม่เช่นนั้นทุกภาคส่วนก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะจัดสอบเมื่อไหร่ การเปิดหลักสูตรจะเป็นไปตามกฎหมายได้หรือไม่ซึ่งเกิดความเสียหายทั้งหมดได้ ดังนั้นหน้าที่ของกรรมการสภาฯ คือจัดประชุม ลงมติประชุม มติใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องยกเลิก มติใดที่ทําผิดพลาดก็ต้องยกเลิกหรือไม่ให้เกิดขึ้น มติใดจะปรับปรุงแก้ไขก็แก้ไขกันตรงนั้น หรือเกิดความขัดแย้งต้องหาข้อยุติก็ลงมติในเวทีคณะกรรมการฯ ไม่สามารถจะทําอย่างอื่นได้ สุดท้ายหวังว่าการประชุมจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ให้เร็วที่สุด

ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อประเทศ

อ.ปานเทพ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเรามีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดสังคมผู้สูงวัย แพทย์ทุกวิชาชีพรวมถึงแพทย์แผนไทยมีความขาดแคลนอย่างแน่นอนในปัจจุบันนี้ นั่นเป็นเหตุทําให้รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะต้องเพิ่มแพทย์ทุกสาขารวมถึงแพทย์แผนไทย กว่า 60,000 คนในรอบ 10 ปี ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์การยอมรับของการแพทย์แผนไทยในปัจจุบันได้รับการยอมรับมากขึ้น ในการเรียนมหาวิทยาลัยเห็นได้ว่าคนเริ่มเข้าเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จะพัฒนาและวิจัยต่อไปเดินหน้าไปหลายปีแล้วในช่วงที่ผ่านมา การได้รับการยอมรับเช่นนี้ ส่งผลทําให้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นชอบในการออกประกาศให้การเรียนและผลลัพธ์ในการเรียนของคณะแพทยศาสตร์ทั้งประเทศจะต้องมีการเรียนรู้วิชาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกด้วย

แต่ถ้าหากความล่าช้าเกิดขึ้นบุคลากรทางการแพทย์ก็จะไม่สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพอะไรได้เลย ส่งผลให้เมื่อเรียนจบก็ไม่สามารถทํางานได้ และที่สําคัญคือบรรจุข้าราชการไม่ได้ตามกําหนดระยะเวลา ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์แผนไทยก็จะเข้าสู่ตลาดได้โดยมีอุปสรรค เพราะการไม่ประชุมและกําหนดการสอบตามกฎหมายของคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย ซึ่งความเสียหายเกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะผู้เรียนผู้จัดหลักสูตรเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อกระบวนการของผู้ที่จะได้รับบริการทางการแพทย์แผนไทย ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน ผู้ป่วยในโรงพยาบาล คนที่รอสถานประกอบการในคลินิกของการแพทย์แผนไทย หรือแม้แต่ร้านขายยาสมุนไพรทั่วไป

เรียกร้องให้สภาการแพทย์แผนไทยยุติปัญหาความขัดแย้ง

"ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กระทบต่อสังคม เราปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ไม่ได้ และผมก็คิดว่าสมาชิกทุกคนหรือว่าที่สมาชิกทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการต้องเรียกร้องให้สภาการแพทย์แผนไทยยุติปัญหาด้วยการประชุมในคณะกรรมการในทุกประเด็นที่เกิดความขัดแย้งกัน แล้วถ้าทําไม่ได้ก็ต้องเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะต้องเป็นผู้ลงมาทําการยุติปัญหาความขัดแย้งนี้ร่วมด้วย อาจจะทําให้โอกาสในความขัดแย้งนั้นสามารถยุติปัญหาได้ แล้วก็ลงมติทางใดทางหนึ่งในความขัดแย้งที่ผ่านมาและทําให้ผู้ประกอบวิชาชีพหรือว่าที่ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเข้าสู่ระบบ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการให้บริการทางการแพทย์แผนไทยต่อไป"  อ.ปานเทพ กล่าว