ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ทำโครงการ Mobile Geriatric Clinic ให้บริการเชิงรุกในชุมชนโดยบุคลากรสหวิชาชีพ ป้องกันการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ชูกิจกรรมดูแลสุขภาพ เตรียมความพร้อมตั้งแต่อายุ 50-59 ปี

"หนองบัวลำภู" มีผู้สูงวัย 88,015 คน

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ มีสัดส่วนผู้สูงอายุราว 12 ล้านคน โดยจังหวัดหนองบัวลำภู เขตสุขภาพที่ 8 พบผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 88,015 คน หรือร้อยละ 17.31 จากประชากรทั้งหมด 508,325 คน 

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 8

เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 8 จึงได้มอบนโยบายให้ เขตสุขภาพที่ 8 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬและเลย ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเอง ลดภาวะพึ่งพิง และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้ยืนยาวที่สุด 

นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองบัวลำภู

นพ.สุริยันต์  ปัญหาราช รองผู้อํานวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู กล่าวกับ Hfocus ว่า ตามนโยบายของ นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองบัวลำภู โรงพยาบาลจึงได้มีการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบของการดูแลประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งในอำเภอเมืองหนองบัวลำภูมีทั้งสิ้น 24,820 คน กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่พบปัญหาสุขภาพได้บ่อย แต่หลายคนไม่สะดวกที่จะมาโรงพยาบาล ผู้สูงอายุจึงเข้าถึงบริการได้ยากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ เพราะลูกหลานออกนอกบ้านไปทำงาน หรือย้ายถิ่นฐานไปจังหวัดอื่น ทำให้มีผู้สูงอายุบางคนต้องอยู่บ้านตามลำพัง หรือใช้ชีวิตอยู่กับหลาน แม้จะมีคลินิกผู้สูงอายุภายในโรงพยาบาล แต่ผู้สูงอายุก็ไม่สะดวกที่จะเดินทางมารับการรักษา 

โครงการ Mobile Geriatric Clinic ให้บริการเชิงรุก ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

ในปี 2560 โรงพยาบาลหนองบัวลำภูจึงได้ริเริ่มโครงการ Mobile Geriatric Clinic ภายในเขตอำเภอเมือง จนกระทั่งปัจจุบันปี 2567 ได้จัดทำทั้งจังหวัด คลินิกผู้สูงอายุสัญจร รูปแบบ คือ คลินิกผู้สูงอายุเคลื่อนที่ออกไปให้บริการในชุมชน โดยมีแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นการออกให้บริการเชิงรุกในชุมชนโดยบุคลากรสหวิชาชีพของโรงพยาบาลหนองบัวลำภู ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล เจ้าหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม. อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ จิตอาสา เพื่อนช่วยเพื่อน และโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 49 แห่ง 

"ประการแรกต้องตรวจประเมินผู้สูงอายุในชุมชนก่อนว่า แต่ละคนต้องการความช่วยเหลืออย่างไร หากพบว่าเจ็บป่วยหรือพิการ ก็จะประเมินและดูแลรักษาต่อไป รวมถึงด้านการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ การฝึกการใช้สายตา เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม เพราะการพลัดตกหกล้มและภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ" นพ.สุริยันต์ กล่าว

ดำเนินงานเชิงรุก ตรวจคัดกรอง "ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย"

ด้านการดำเนินงานของโรงพยาบาลหนองบัวลำภู ในปี 2567 จะมุ่งเน้นการให้บริการเชิงรุก ตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย นพ.สุริยันต์ เพิ่มเติมว่า เครื่องมือที่ใช้จะช่วยตรวจคัดกรอง หากสมองทำงานได้ปกติก็จะมีการแนะนำการใช้ชีวิตประจำวัน ให้ผู้สูงวัยฝึกสมองด้วย Brain Exercise ฝึกทั้งความคิด ความจำ การคำนวณ ส่วนกลุ่มมีภาวะสมองบกพร่องระยะต้น ฝึกสมองด้วย Brain training และกลุ่มมีภาวะหลงลืมหรือที่ต้องรับการรักษา จะนัดหมายการเข้ารับบริการ ประเมินภาวะสมองเสื่อมอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่การรักษาในคลินิกผู้สูงอายุ โดยมีการทำ CT /MRI สมอง บูรณาการร่วมกับคลินิกเวชกรรมฟื้นฟู อายุรกรรม ออร์โธปิดิก จิตเวช รายที่มีปัญหาพฤติกรรมหรืออารมณ์ (BPSD) และ ประสาทศัลยศาสตร์

สำหรับการประเมินและคัดกรองภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มติดสังคม ใช้ 2 Q Plus และ 14 ข้อคำถาม หากได้คะแนน มากกว่า 40 ขึ้นไป คัดกรองเพิ่มเติมด้วย AMT หากพบความผิดปกติจะประเมินต่อด้วย TMSE และส่งต่อคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลหนองบัวลำภู กรณีที่สงสัยภาวะสมองเสื่อม ส่วนกลุ่มติดบ้าน ติดเตียงประเมินโดยใช้ 2 Q Plus และ Mini Cog รายที่ประเมินไม่ผ่าน คัดกรองเพิ่มเติมด้วย AMT หากพบความผิดปกติจะประเมินต่อด้วย TMSE และส่งต่อคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลหนองบัวลำภู กรณีที่สงสัยภาวะสมองเสื่อม 

พบ! ผู้สูงวัยมีภาวะสมองบกพร่องในระยะเริ่มต้น 102 ราย และสมองเสื่อม 49 ราย

ผลการดำเนินงาน ผู้สูงอายุได้รับการประเมินทั้งสิ้น 14,478 ราย หรือร้อยละ 63.2 พบว่ามีภาวะสมองบกพร่องในระยะเริ่มต้น 102 ราย และสมองเสื่อม 49 ราย โดยได้รับการกระตุ้นศักยภาพสมองด้วยโปรแกรม TEAM-V ของกรมการแพทย์  และติดตามอาการทุก 3 เดือน

นพ.สุริยันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมทุกวันพุธ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ให้ผู้สูงอายุและกลุ่ม Pre-aging ช่วงอายุ 50-59 ปี มาทำกิจกรรมร่วมกัน ลดปัญหาพลัดตกหกล้ม และชะลอภาวะสมองเสื่อม เช่น การทดสอบสมรรถภาพกาย และการทดสอบศักยภาพสมอง ทั้งนี้ ในกลุ่มติดสังคม คือ ผู้สูงวัยที่เคลื่อนไหวได้ปกติ จะพยายามให้มีกิจกรรมร่วมกัน รวมตัวให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง ทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ดูแลเรื่องโครงสร้างและความแข็งแรงของร่างกาย ป้องกันไม่ให้ติดบ้านติดเตียง

"โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ได้ใช้ระบบ Telehealth เชื่อมโยงข้อมูลผู้รับบริการ ช่วยในการติดตามอาการและให้คำปรึกษา ทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาสำเร็จได้ด้วยดี"

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 กระทบสุขภาพผู้สูงวัยทุกต้นปี

ส่วนปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ จังหวัดหนองบัวลำภู นพ.สุริยันต์ กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 80 มีอาชีพเกษตรกรรม ทำให้พบปัญหาปวดหลัง โรคที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลังเสื่อม และข้อเข่าเสื่อม โรคตา โดยเฉพาะต้อกระจกก็พบมากเช่นกัน เพราะโรคเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต้อกระจกค่อนข้างสูง ผู้สูงวัยที่นี่พบโรค NCDs (non-communicable diseases) กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ได้บ่อย ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญในผู้สูงอายุ เพราะพื้นที่จังหวัดหนองบัวลําภู มีการเผาอ้อย ทำให้เกิดฝุ่นควัน ส่งผลต่อภาวะทางเดินหายใจ จึงพบโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง และปอดบวม ได้บ่อยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ลำพัง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว กังวล ซึมเศร้ามากขึ้น รองผู้อํานวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู กล่าวว่า โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จะมุ่งเน้นการดูแลปัญหาซึมเศร้าในผู้สูงอายุมากขึ้น โดยบูรณาการร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีกิจกรรมทำร่วมกัน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จะช่วยให้ผู้สูงวัยรู้สึกดีขึ้น ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะนอกจากสุขภาพร่างกายแล้ว สุขภาพใจในผู้สูงอายุก็สำคัญเช่นกัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

หนองบัวลำภู ชู Health Rider '30 บาทรักษาทุกที่ฯ' ปชช.พอใจ -สร้างรายได้เพิ่มบุคลากรและอสม.