ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอชลน่าน" เผยความคืบหน้า Money Safety MOPH+ ช่วยปิดหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้เสีย (NPL) ของบุคลากรแล้ว ร้อยละ 16 การขอสินเชื่อได้รับอนุมัติแล้วร้อยละ 10 วงเงิน 119 ล้านบาท เดินหน้าช่วยปลดหนี้เสีย-หนี้นอกระบบ เพิ่มความสุขบุคลากร

วันที่ 21 เมษายน 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้สินของบุคลากร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจ โดยเร่งช่วยเหลือบุคลากรกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สินผ่านแคมเปญ “แผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+)" ที่มีการคิกออฟไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ล่าสุดได้รับรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. การแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วยเหลือด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครอบคลุมสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท จากการสำรวจบุคลากรสาธารณสุขที่มีปัญหาหนี้เสียจากทั้ง 4 ธนาคาร รวม 728 คน ปัจจุบันสามารถปิดหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้แล้ว 119 คน คิดเป็นร้อยละ 16 

2. การให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารออมสิน เพื่อช่วยแบ่งเบาความทุกข์ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ย สามารถนำเงินที่เหลือไปชำระหนี้ หรือใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตได้มากขึ้น ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ 1) ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และ 2) สินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นสินเชื่อรายได้ประจำปันสุข มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่มีเฉลี่ยคนละประมาณ 2 แสนบาท โดยจะได้วงเงินเต็ม 2 แสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.7 ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนชำระ 8 ปี ขณะนี้มีบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขยื่นขอสินเชื่อ 3,758 คน วงเงิน 1,690.23 ล้านบาท ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 365 คน วงเงิน 119.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ขอสินเชื่อ นอกจากนี้ ทุกบ่ายวันพุธยังมีการเปิดคลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงินร่วมกับธนาคารออมสิน เพื่อให้คำปรึกษาและบริการทางการเงินแก่บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขด้วย 

"การดำเนินงานระยะถัดไป มีแผนติดตามการแก้หนี้เสียของบุคลากรสาธารณสุขในแต่ละจังหวัด เพื่อลดจำนวนหนี้เสียให้เป็นศูนย์ รวมทั้งขับเคลื่อนเรื่องวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน ไม่เป็นหนี้เพิ่ม ตามเป้าหมายของนโยบายที่ต้องการทำให้บุคลากรสาธารณสุขหมดภาระ หมดข้อกังวล จะได้มีความสุข มีสภาพจิตใจที่พร้อมให้บริการประชาชน" นพ.ชลน่านกล่าว