ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข รับลูกรัฐบาลในการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับบุคลากร ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ ผ่าน 2 โครงการ พร้อมเปิดคลินิกสุขภาพทางการเงินทุกโรงพยาบาลในสังกัด 8 ธ.ค.นี้

 

ภายหลังนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ประกาศปลดปล่อยคนไทยจาก “หนี้นอกระบบ” 5 หมื่นล้าน โดยยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ดีเดย์เปิดลงทะเบียน 1 ธ.ค.นั้น

ล่าสุดวันที่ 28 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายความมั่นคงทางการเงินให้แก่บุคลากรในสังกัดที่มีมากกว่า 5 แสนคน ซึ่งจำนวนหนึ่งประสบปัญหาเรื่องหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ โดยร่วมกับธนาคารออมสินช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากรผ่าน 2 หลักการ คือ 1.การนำบุคลากรที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบ โดยเสียอัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 6 และ 2.บุคลากรที่มีหนี้ในระบบ เช่น หนี้บ้าน จะได้รับการปรับปรุงหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขได้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ใน 2 โครงการ คือ 1.โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ครอบคลุมทั้งการรีไฟแนนซ์ ซื้อบ้านหลังใหม่ ปลูกสร้างบ้าน และต่อเติมซ่อมแซมบ้าน

 

2.โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ 4 รูปแบบ คือ สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น, สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ, สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด และสินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ ซึ่งตรงนี้จะช่วยในกลุ่มหนี้นอกระบบได้อย่างดี คาดว่าจะช่วยทำให้บุคลากรมีเงินเหลือเก็บเฉลี่ย 5,751 บาทต่อเดือน และประหยัดรวม 6,042 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ วันที่ 8 ธันวาคม 2566 จะเปิดคลินิกสุขภาพทางการเงินในทุกโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินและวินัยทางการเงินให้แก่บุคลากรด้วย

(ข่าวเกี่ยวข้อง : นายกฯ สั่งแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ” ขจัดดอกเบี้ยโหด-ใช้ความรุนแรง ลงทะเบียน 1 ธ.ค.)