ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง จับมือ สวรส. ขับเคลื่อน การพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ "ด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ" ชูบริการสุขภาพและการให้บริการพื้นฐานด้านโรคผิวหนัง เพื่อผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 67 สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จัดประชุมรับฟังและเสนอความคิดเห็นการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ "ด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ" ณ โรงแรมแกรนริชมอนด์ นนทบุรี โดยมี นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ นนพ.วีรวัต อุครานันท์  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์  รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ พญ.ชินมนัส เลขวัต นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ผู้จัดทำโครงการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ ร่วมประชุมด้วย

นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีความแตกต่างในการเข้าถึงบริการระหว่างผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดและในเมืองหลวงในด้านการวินิจฉัยและการรักษาเฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง  เนื่องจากไม่มีแพทย์ผิวหนังเพียงพอในโรงพยาบาลของทุกจังหวัด จากข้อมูลการสำรวจจำนวนแพทย์ผิวหนังทั่วประเทศของสถาบันโรคผิวหนังในปี  พ.ศ. 2563 พบว่าสัดส่วนแพทย์ผิวหนัง 1 คนต่อจำนวนประชากร  มีมากถึง 400,000 – 1,500,000 คนในแต่ละเขตสุขภาพ การพัฒนาบริการปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังเพื่อให้บริการพื้นฐานด้านโรคผิวหนังจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่องและมีความเท่าเทียม

นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์  กล่าวว่า  สิ่งสำคัญที่ได้จัดงานในครั้งนี้และได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. เพราะระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นกลไกสำคัญที่จะให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพระดับพื้นที่ ต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพในทุกมิติทั้งการส่งเสริมสุขภาพการควบคุมป้องกันโรคการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานได้อย่างทั่วถึงสะดวกรวดเร็วและใกล้บ้าน แต่สิ่งสำคัญที่ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ระบบสุขภาพปฐมภูมิได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการปฏิรูปเพื่อการกระจายอำนาจ ขณะเดียวกันระบบการดูแลด้านสุขภาพ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการขับเคลื่อนตั้งแต่ ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ทั้งโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคติดต่อเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตามโรคผิวหนังยังไม่ได้บรรจุอยู่ในระบบการดูแลสุขภาพ ทำให้การดูแลผู้ป่วยโรคผิวหนังในระดับปฐมภูมินั้นยังมีช่องว่าง ยังไม่มีคณะกรรมการในการขับเคลื่อน และยังไม่ถูกยกมาเป็นประเด็นสำคัญมากพอ

นายแพทย์วีรวัต กล่าวเพิ่มเติมว่า  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เบื้องต้นทางด้านโรคผิวหนังทั้งการดูแลตนเอง และการป้องกัน อีกทั้งระบบบริการปฐมภูมิจะเป็นการบริการด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขที่ผู้ป่วยมั่นใจและไว้วางใจ โดยควรมีการดูแลรักษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมและมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานบริการปฐมภูมิควรจะมีการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนัง รวมถึงการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลโรคผิวหนัง

แพทย์หญิงชินมนัส เลขวัต นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ผู้จัดทำโครงการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลว่า ได้ศึกษาองค์ประกอบและระบบงานที่จำเป็น รวมทั้งออกแบบแนวทางการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังโดยผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้ร่วมออกแบบแนวทาง โดยสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานปฐมภูมิ  12 เขตสุขภาพ, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโรคผิวหนัง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยนำเสนอแนวทางการพัฒนาและประเมินความเป็นไปได้ในการขยายผลการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนัง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนังได้ อันจะทำให้ประชาชนไทยมีสุขภาพดี ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ และยังมีโอกาสเป็นต้นแบบการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆในประเทศต่อไปได้อีกด้วย

แพทย์หญิงชินมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า   ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษา เกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ด้านโรคผิวหนังเพราะอาจมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การวินิจฉัยในโรงพยาบาลแต่ละที่มีความถูกต้องแม่นยำแค่ไหน หรือ การวินิจฉัยในรพ.สต. จะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของคนไข้ได้ จึงอาจทำให้เราไม่ทราบสถานการณ์เรื่องโรคผิวหนังในประเทศไทยอย่างแท้จริง  รวมถึงเมื่อคนไข้มาที่โรงพยาบาลจะได้รับการบริการจริงหรือไม่ ดังนั้นจุดประสงค์ของโครงการจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแนวทางการบรการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนัง โดยการการศึกษาองค์ประกอบระบบงานวิจัยที่จำเป็นรวมถึงศึกษาเส้นทางการบริการของประชาชนเพื่อนำข้อมูลข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของคนในพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนไข้ได้จริง